Skip to content

TCAS คือ อะไร? พร้อมคู่มือเตรียมเข้าเรียนคณะอินเตอร์

TCAS คือ อะไร

 

น้อง ๆ ม.ปลายน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อของ “TCAS” กันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นระบบการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้งานกันมาหลายปี ซึ่งสำหรับน้อง ๆ ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเรียนต่อคณะอินเตอร์อาจจะมีคำถามว่าในเมื่อเราตั้งใจจะลงเรียนหลักสูตรอินเตอร์ ยังจำเป็นต้องใช้ระบบ TCAS อยู่หรือไม่? ระบบ TCAS เกี่ยวอะไรกับหลักสูตรอินเตอร์? แล้วถ้าอยากเข้าอินเตอร์ต้องเตรียมคะแนนตัวไหนบ้าง? วันนี้พี่กริฟฟินจะมาไขข้อสงสัยพร้อมแจกคู่มือสำหรับเด็กสายอินเตอร์

TCAS คือ อะไร?

Thai university Center Admission System หรือที่ย่อเป็น TCAS คือ ระบบกลางในการรับนักศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัยของประเทศไทย เป็นระบบที่เกิดขึ้นจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มอบหมายให้ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) พิจารณาปรับรูปแบบการรับเข้าศึกษาใหม่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้สมัครสอบ โดยเริ่มใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) เป็นต้นมา ทั้งนี้ การสมัครเข้าระบบ TCAS จะต้องใช้เลขบัตรประชาชนในการสมัคร จึงสงวนสิทธิ์เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

TCAS คืออะไร มีกี่รอบ

รอบการสอบ TCAS

 

 

รอบที่ 1 Portfolio

การสมัครเรียนผ่านระบบ TCAS รอบที่ 1 หรือที่นิยมเรียกกันว่า “รอบพอร์ต” ส่วนใหญ่แล้วผู้สมัครจะต้องยื่น Portfolio ของตนเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลงานทางวิชาการหรือกิจกรรมนอกห้องเรียนที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่สนใจเรียนแนบควบคู่ไปกับเกรดเฉลี่ยและคะแนนผลทดสอบความถนัดทางภาษาหรือรายวิชาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับคณะที่เลือกสมัครเรียน ทั้งนี้ การรับนักศึกษาผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio จะเป็นการสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงที่จะกำหนดเกณฑ์รับนิสิตและนักศึกษาต่างกันออกไปตามปฏิทินมหาวิทยาลัย (แนะนำให้ติดตามประกาศจากทางมหาวิทยาลัย) และเมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาเข้าเรียนได้เป็นที่เรียบร้อย น้อง ๆ จะต้องดำเนินการ “ยืนยันสิทธิ์” ในระบบ TCAS ต่อไป

 

รอบที่ 2 Quota

“รอบโควตา” หรือการสมัครเรียนผ่านระบบ TCAS รอบที่ 2 เป็นการสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงเช่นเดียวกับรอบ Portfolio เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการกำหนดโควตาการรับนักศึกษาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครในกลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าเรียนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น โควตานักกีฬา, โควตาสำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาคต่าง ๆ ในเขตมหาวิทยาลัย โดยในรอบนี้จะเน้นการพิจารณาจากผลการเรียนควบคู่ไปกับรางวัลต่าง ๆ และคะแนนความถนัดทางภาษาอังกฤษและรายวิชาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับคณะที่สมัครเรียน แต่ในรอบนี้ไม่จำเป็นต้องทำ Portfolio ส่งเหมือนกับในรอบแรก โดยหากผ่านเกณฑ์การพิจารณาเข้าเรียนได้เป็นที่เรียบร้อย น้อง ๆ จะต้องดำเนินการ “ยืนยันสิทธิ์” ในระบบ TCAS ต่อไป

 

รอบที่ 3 Admission

ในรอบแอดมิชชันที่เป็นการสมัครเรียนผ่านระบบ TCAS รอบที่ 3 จะเป็นการสมัครผ่านระบบกลางของ TCAS (student.mytcas.com) ซึ่งน้อง ๆ จะสามารถเลือกลำดับคณะที่อยากเข้าได้สูงสุดถึง 10 อันดับแบบคละมหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่ต้องการสมัครเรียนได้ตามต้องการ ซึ่งในรอบนี้จะใช้ทั้งเกรดเฉลี่ย คะแนนผลทดสอบความถนัดทางภาษาอังกฤษและรายวิชาอื่น ๆ รวมไปถึงคะแนนผลการสอบเฉพาะทางร่วมด้วย โดยการพิจารณาจะคัดเลือกจากคะแนนและลำดับการสมัครเป็นหลัก และจะประกาศผลเพียง 1 อันดับที่สูงที่สุดของผู้สมัครเท่านั้น หากตัดสินใจเข้าเรียนในหลักสูตรตามที่ประกาศผล จะต้องดำเนินการยืนยันสิทธิ์ในระบบ TCAS แต่หากต้องการพิจารณาใหม่จะต้องทำเรื่องขอประมวลผลรอบ 2 และยืนยันสิทธิ์ในหลักสูตรที่ได้ในการประมวลผลรอบล่าสุด

 

รอบที่ 4 รับตรง (Direct Admission)

รอบ Direct Admission หรือรอบรับตรงหลังแอดมิชชัน ถือว่าเป็นการสอบรอบ “เก็บตก” สำหรับผู้ที่ยังไม่มีที่เรียนในโค้งสุดท้ายจึงจำเป็นที่จะต้องทำการสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง เกณฑ์การพิจารณารับเข้าศึกษาจะขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เป็นผู้กำหนด แต่เมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาและเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าเรียนได้เป็นที่เรียบร้อย น้อง ๆ จะต้องดำเนินการ “ยืนยันสิทธิ์” ในระบบ TCAS ต่อไป

เด็กสายอินเตอร์ต้องเตรียมตัวอย่างไรกับระบบ TCAS? ใช้วุฒิ GED สมัครได้หรือไม่?

ระบบ TCAS เปิดรับนักเรียนไทยทุกคน “ทุกวุฒิการศึกษา” ไม่ว่าน้อง ๆ จะมีวุฒิม.6 วุฒิเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศไทย อย่าง วุฒิ GED / IB / A-Level รวมไปถึงเด็กซิ่ว ก็สามารถลงสมัครเรียนผ่านระบบ TCAS ได้ทุกคน แต่หากน้องคนไหนที่ไม่ได้เรียนในระบบการศึกษาของประเทศไทยและใช้การสอบเทียบวุฒิแทน จะต้องดำเนินการขอเอกสารเทียบวุฒิ GED ก่อนลงทะเบียนระบบ TCAS

สำหรับเด็กอินเตอร์ก็สามารถสมัครได้ทุกรอบสอบ TCAS เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยจะมีที่นั่งให้น้อง ๆ ฝั่งอินเตอร์ทุกรอบอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเป้าหมายของน้อง ๆ เป็นการเข้าเรียนคณะอินเตอร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องลงสมัครผ่านระบบ TCAS (ยกเว้นหลักสูตร MUIC ของมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเอกชน) แต่สำหรับใครที่สนใจสมัครตั้งแต่รอบ Portfolio อาจต้องติดตามประกาศของทางมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งจะมีการเปิดรับนักศึกษาภาคอินเตอร์ที่ไม่ตรงกับรอบ Portfolio ของรอบปกติ เช่น จุฬาฯ จะเปิดรับนิสิตภาคอินเตอร์ก่อนในรอบ Early Admission และจะสามารถสมัครได้เฉพาะในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น ไม่สามารถยื่นคะแนนในรอบ Portfolio ปกติได้ 

นอกจากนี้ “คะแนนภาษาอังกฤษ” จำเป็นอย่างมากสำหรับเด็กอินเตอร์ในการยื่นสมัครเรียนคณะอินเตอร์ โดยสามารถเลือกยื่นได้ทั้งคะแนน IELTS, TOEFL, TOEIC, Duolingo, CU-TEP, TU-GET หรือคะแนนผลทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษประเภทอื่น ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยระบุ และหากลงสมัครในคณะหรือสาขาเฉพาะทางอาจจำเป็นต้องแนบ “คะแนนความถนัด Aptitude Test” ตามเกณฑ์ที่ทางคณะและมหาวิทยาลัยกำหนด เช่น

  • สายแพทย์ อาจต้องยื่นผลคะแนน TBAT, UCAT, AKAT หรือ MCAT ควบคู่กันไป (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย)
  • สายวิศวะ, วิทยาศาสตร์ หรือสายคำนวณและธุรกิจต่าง ๆ อาจต้องยื่นผลคะแนน SAT, ACT, CU-ATS, CU-AAT, A-Level (Math/Physics, Chemicals, Biology) หรือผลคะแนนอื่น ๆ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด
  • สายภาษา อาจต้องยื่นผลคะแนน SAT (Verbal), CU-AAT (Verbal) หรือผลคะแนนอื่น ๆ ตามข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย

เตรียมตัวยื่น TCAS สำหรับเด็กอินเตอร์

 

เตรียมพร้อมก่อนสมัคร TCAS ลงติวกับ House of Griffin

เมื่อน้อง ๆ ทราบแล้วว่า TCAS คือ อะไร และต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง พี่กริฟฟินแนะนำให้เริ่มเตรียมตัวเก็บคะแนนตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเก็บวุฒิการศึกษา คะแนนภาษาอังกฤษ หรือคะแนนความถนัด ตามเกณฑ์คณะเป้าหมายของน้อง ๆ ที่ House of Griffin เรามีคอร์สเรียนที่จำเป็นสำหรับเตรียมตัวยื่นเข้าคณะอินเตอร์มหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมไปถึงยังมีคลาสให้เลือกเรียนแบบหลากหลายทั้งรูปแบบ Private ติวคนเดียวเน้น ๆ และกลุ่มเล็ก เรียนร่วมกับเพื่อน ๆ มั่นใจได้เลยว่าจะสามารถคว้าคะแนนสอบตามที่คาดหวังพร้อมยื่นเข้าคณะในฝันได้แบบผ่านฉลุยแน่นอน

Share this article