
พอร์ตแพทย์เป็นสิ่งสำคัญในการยื่น TCAS รอบที่ 1 Portfolio สำหรับน้อง ๆ ที่ปักธงแล้วว่า “ฉันอยากเป็นหมอ” ซึ่งคนที่รู้ใจตัวเองว่าอยากเรียนอะไร อยากทำอาชีพอะไร และมีความมุ่งมั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ เพราะมันจะทำให้ชีวิตเรามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นและทำให้เรารู้ว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไร
ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีน้อง ๆ หลายคนให้ความสนใจในคณะแพทยศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากอาชีพแพทย์ในเมืองไทยมีความมั่นคงสูงและเงินเดือนก็สูงมากเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้คนในโลกอีกมากมาย บอกได้เลยว่าเป็นอาชีพในฝันของหลาย ๆ คน แต่ต้องแลกมากับการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เพราะขั้นตอนในการรับสมัครแต่ละรอบก็สุดหินเช่นกัน
การเข้าคณะแพทย์นั้นจะมีทั้งหมด 4 รอบด้วยกัน ได้แก่ รอบที่ 1 Portfolio, รอบที่ 2 โควตา, รอบที่ 3 กสพท และรอบที่ 4 รอบรับตรงอิสระ แต่ละรอบจะมีการยื่นผลคะแนนที่แตกต่างกัน พี่กริฟฟินแนะนำให้น้อง ๆ เลือกรอบที่ตรงกับตัวเองมากที่สุด เพื่อที่จะได้โฟกัสการสอบได้อย่างตรงจุดและไม่หนักเกินไป ซึ่งวันนี้พี่กริฟฟินจะมาพูดถึง รอบ Portfolio กันก่อนว่าน้อง ๆ ต้องเตรียมพอร์ตแพทย์อย่างไร ต้องมีเนื้อหาหรือข้อมูลอะไรบ้าง รวมไปถึงการแนะนำแหล่งกิจกรรมอาสาต่าง ๆ เพื่อให้น้อง ๆ สามารถเอาไปใส่ในพอร์ตแพทย์เพื่อให้ดูน่าสนใจและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ถ้าพร้อมเป็นว่าที่คุณหมอแล้วก็ตามมาเลยค่ะ
การเตรียมพอร์ตแพทย์ยื่น TCAS รอบที่ 1
การเตรียมตัวเพื่อยื่น Portfolio รอบแรก อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะน้อง ๆ ต้องมีการเตรียมผลคะแนนสอบต่าง ๆ ที่ทางคณะต้องการ รวมถึงรวบรวมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่น้อง ๆ ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมในช่วง ม.ปลาย ซึ่งควรต้องเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ และคำนวณช่วงวันสอบ วันประกาศผลสอบให้ดี ระยะเวลาที่ควรทราบผลสอบทั้งหมดไม่ควรเกินเดือนธันวาคม เพื่อแน่ใจว่าคะแนนที่เราได้ อยู่ในช่วงที่คณะกำหนดหรือไม่ ถ้ามีจะต้องสอบแก้ตัว จะได้มีเวลาทำได้ทันนะคะ ซึ่งมีคะแนนและข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัว มาดูกันเลยค่ะ
IELTS
IELTS (International English Language Testing System) เป็นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษมาตรฐานนานาชาติ ครอบคลุมทักษะ 4 ด้าน คือ Reading, Writing, Listening & Speaking ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อส่วนใหญ่มักจะกำหนดคะแนนอยู่ที่ประมาณ ≥ 6.5-7.0 อย่างไรก็ตามพี่กริฟฟินแนะนำให้น้อง ๆ เช็กรายละเอียดเรื่องผลคะแนนสอบกับทางมหาวิทยาลัยอีกทีนะคะ น้อง ๆ จะได้มีเป้าหมายในการสอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
TOEFL
TOEFL (Test of English as a Foreign Language) เป็นแบบทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ครอบคลุมทักษะ 4 ด้าน คือ Reading, Writing, Listening & Speaking รูปแบบการสอบ TOEFL จะมีแบบ TOEFL iBT และ TOEFL ITP สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะแพทย์จะต้องเลือกสอบ TOEFL iBT ซึ่งเป็นข้อสอบที่ทำในคอมพิวเตอร์ มีคะแนนเต็มทั้งหมด 120 คะแนน ใครที่อยากสอบแพทย์รอบพอร์ตก็เตรียมสอบ TOEFL เก็บไว้ได้เลยค่ะ
BMAT
BMAT (Biomedical Admissions Test) เป็นแบบทดสอบที่จัดสอบแค่ปีละ 1 ครั้ง ปกติจะสอบในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน แบ่งออกเป็น 3 พาร์ท คือ
1. Thinking Skills
2. Scientific Knowledge and Applications
3. Writing Task
BMAT ถือเป็นข้อสอบที่สำคัญที่สุดในการทำพอร์ตแพทย์เพื่อยื่น TCAS รอบ 1 พร้อมตัว portfolio เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้นจะให้ค่าน้ำหนักของคะแนนสอบ BMAT มากกว่าผลคะแนนสอบอื่น ๆ ดังนั้นแล้วใครที่ต้องการสอบแพทย์รอบพอร์ตนี้ต้องเตรียมการทำพอร์ตแพทย์ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ BMAT ให้เยอะเพราะค่อนข้างยากและท้าทาย พี่กริฟฟินแนะนำให้น้อง ๆ บริหารเวลาในการติวสอบให้ดี หรือหาเวลานั่งติวสอบ BMAT กับเพื่อน ๆ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้น้อง ๆ มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และเข้าใจในข้อสอบมากขึ้น
เคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ BMAT คลิกเลย
น้อง ๆ สามารถดู Requirements คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำหรับยื่น TCAS รอบที่ 1 ได้ที่นี่ คลิกเลย
เกรดเฉลี่ยสะสม
เกรดเฉลี่ยสะสมหรือ GPAX ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายประมาณ 4-5 เทอม ซึ่งเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีความแตกต่างกัน พี่กริฟฟินแนะนำให้น้อง ๆ ลองศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยที่อยากเข้ากันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่เราจะได้ปั้นเกรดดี ๆ เพราะบางมหาวิทยาลัยก็ต้องการเกรด 3.5 ขึ้นไป หรือบางมหาวิทยาลัยก็อาจจะไม่ได้กำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมขั้นต่ำไว้ อย่างไรก็ตามให้น้อง ๆ เช็กใน Website ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ อีกครั้งนะคะ
Portfolio
Portfolio ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการสมัครเข้าศึกษาต่อคณะแพทย์รอบที่ 1 ซึ่งน้อง ๆ จะต้องทำ Portfolio ให้น่าสนใจและแสดงความเป็นตัวเองมากที่สุด ใน Portfolio ควรใส่ผลงานต่าง ๆ กิจกรรมที่เคยทำในระหว่างการเป็นนักเรียน รวมถึงกิจกรรมอาสาต่าง ๆ ที่เคยเข้าร่วม เพื่อแสดงถึงความสามารถและศักยภาพของเรา
ส่วนประกอบที่ควรมีในพอร์ตแพทย์
หลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าการทำพอร์ตแพทย์ยิ่งหนายิ่งดี ยิ่งแน่นยิ่งแสดงถึงความสามารถของเรา พี่กริฟฟินบอกได้เลยว่า ไม่ใช่เลยค่ะ เพราะการทำพอร์ตนั้นไม่จำเป็นต้องหนา ขอแค่มีเนื้อหาครบ กระชับและตรงประเด็น ก็จะทำให้พอร์ตของน้อง ๆ น่าอ่านและเข้าตากรรมการอย่างแน่นอน ในการทำ Portfolio พี่กริฟฟินขอแนะนำว่า Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานที่ดี ไม่ควรทำเกิน 10 หน้า โดยใน 10 หน้านี้ จะประกอบด้วย
หน้า 0: หน้าปก (ไม่นับรวม 10 หน้า)
สำหรับหน้าปก น้อง ๆ อาจใส่รูปตัวเองและตกแต่งหน้าปกให้สวยงามคล้ายกับปกนิตยสารเพื่อให้ดึงดูดผู้อ่านมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถดีไซน์ความเป็นตัวเองลงไปได้เลยค่ะ
หน้า 1: ประวัติส่วนตัว
ในส่วนของหน้าแรกให้น้อง ๆ ใส่ประวัติส่วนตัวลงไป เราคือใคร เรียนที่ไหน มีทักษะอะไรที่โดดเด่น งานอดิเรกคืออะไร อาชีพในฝันอยากเป็นอะไร ความสามารถพิเศษต่าง ๆ พี่กริฟฟินแนะนำให้น้อง ๆ พยายามเค้นศักยภาพตัวเองลงไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้แสดงถึงสิ่งที่สามารถเป็นข้อได้เปรียบในการพิจารณา เช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางด้านภาษา เป็นต้น
หน้า 2: ประวัติการศึกษา
สำหรับหน้านี้ให้ใส่ประวัติการศึกษาของตัวเองว่าเรียนที่ไหนมาบ้าง หลักสูตรอะไร น้อง ๆ สามารถใส่เกรดเฉลี่ยสะสมของวิชาที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ เคมี ชีวะ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดมากขึ้นในการพิจารณา
หน้า 3: เหตุผลในการอยากเรียนคณะนี้และมหาวิทยาลัยนี้
ในส่วนของหน้า 3 ให้เขียนลักษณะเป็นเรียงความแบบย่อ คล้ายกับการเขียน Statement Purpose ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญ น้อง ๆ ควรเขียนให้เห็นถึงความตั้งใจ เป้าหมายในการเรียน และทัศนคติที่ดีที่เรามีต่อคณะ สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยนั้น ๆ รวมถึง ความสนใจในคณะ มหาวิทยาลัย และเป้าหมายในอนาคตของตัวน้อง ๆ เอง พี่กริฟฟินแนะนำให้เขียนแบบกระชับและได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป ซึ่งจะทำให้พอร์ตของน้อง ๆ ไม่น่าเบื่อและมีความน่าอ่านมากยิ่งขึ้น
หน้า 4 – 7: ผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่าง ๆ
ในส่วนนี้ให้น้อง ๆ ใส่ผลงาน รางวัลและเกียรติบัตรต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสามารถด้านอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องขนมาใส่ทั้งหมดที่มีนะคะ พี่กริฟฟินแนะนำให้เลือกเฉพาะผลงานที่มีความโดดเด่นและมีความเกี่ยวข้องกับคณะและสาขาที่เราเรียน เช่น การแข่งขัน การเรียนคอร์สออนไลน์ การเรียนรู้ การอบรมต่าง ๆ เป็นต้น ในส่วนนี้น้อง ๆ สามารถใส่รูปเกียรติบัตรประกอบพร้อมเขียนบรรยายไว้ใต้รูปและจัดเรียงให้น่าอ่านสวยงาม
หน้า 8 – 10: กิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำมา
ส่วนสุดท้ายให้น้อง ๆ ใส่กิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำมาเพื่อให้แสดงถึงศักยภาพด้านอื่น ๆ และแสดงความเป็นตัวตนมากขึ้น เช่น กิจกรรมดนตรี กีฬา กิจกรรมเชิงวิชาการ กิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ เป็นต้น และที่สำคัญน้อง ๆ ควรใส่กิจกรรมประเภทจิตอาสา การช่วยเหลือสังคมลงไปด้วย เพราะเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและแสดงถึงความมีจิตสาธารณะของเรา พอร์ตแพทย์ที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่างที่เคยทำมา แต่ให้ใส่ข้อมูลและผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาหรือคณะที่น้องจะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด หลังจากที่องค์ประกอบของพอร์ตแพทย์ครบแล้ว อย่าลืมตกแต่งให้สวยงาม น่าอ่านด้วยนะคะ พี่กริฟฟินแนะนำให้เลือก Mood & Tone ให้เหมาะสม ธีมสีเดียวกัน ตัวอักษรอ่านง่ายและมีขนาดที่เหมาะสม จัด Layout ให้เป็นระเบียบ สวยงามและอ่านง่าย รวมไปถึงการเลือกรูปประกอบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้พอร์ตแพทย์ของน้อง ๆ น่าสนใจและปังกว่าใคร ๆ แน่นอน
แนะนำแหล่งกิจกรรมอาสาเพื่อใส่ในพอร์ตแพทย์
สำหรับกิจกรรมอาสาไม่จำเป็นต้องทำที่โรงพยาบาลเท่านั้น และสามารถเลือกทำกิจกรรมอาสาแบบอื่น ๆ ได้ ซึ่งวันนี้พี่กริฟฟินจะมาแนะนำแหล่งกิจกรรมอาสาให้น้อง ๆ ใครที่สนใจอันไหนก็สามารถสมัครได้เลยค่ะ
ศูนย์อาสาสมัครศิริราช
- อาสาสมัครบริการและแนะนำผู้ป่วย (ผู้ป่วยสัมพันธ์) ณ โรงพยาบาลศิริราช โครงการนี้จะมีประกาศนียบัตรให้เมื่อน้อง ๆ ปฏิบัติงานครบ 20 ชม
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
- อาสาสมัคร “Safety for my patients” จิตอาสาช่วยประคองผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รับสมัครจิตอาสา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ช่วยปฏิบัติงานธนาคารเลือด รพ.มทส. โดยหน้าที่ของจิตอาสา คือดูแลให้คำแนะนำแก่ผู้บริการ ให้คำแนะนำและกรอกข้อมูลประวัติสำหรับผู้สมัคร ดูแลผู้บริจาคโลหิตหลังบริจาคโลหิตเบื้องต้น เช่น เตรียมน้ำแดงและขนม ช่วยเตรียมส่วนประกอบโลหิต เช่น รีดสาย ซีลสาย เป็นต้น
มูลนิธิกระจกเงา The mirror foundation
- อาสาเลี้ยงเด็ก – ภารกิจเป็นผู้ช่วยเลี้ยงเด็ก เป็นเพื่อนเล่น วาดรูป เล่านิทาน ระบายสี เสริมทักษะตามวัย น้อง ๆ
คนไหนที่รักเด็ก ชอบดูแล งานจิตอาสามูลนิธิกระจกเงาก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอาสาที่น่าสนใจ
- อาสาศูนย์แบ่งต่อ – ภารกิจคัดแยกของบริจาค ประเภทเครื่องเขียน และแพ็คลงกล่องเพื่อนำส่งต่อให้โรงเรียน คัดแยกชุดนักเรียน แพ็คลงกล่องส่งโรงเรียนและผู้ปกครองที่ขาดแคลน และคัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก
- อาสาคัด-จัด-เคลียร์ ภารกิจคัดแยกสิ่งของบริจาค จัดเก็บ จัดเตรียมเพื่อรอส่งต่อไปยังผู้ขาดแคลนและเคลียร์พื้นที่เพื่อรองรับสิ่งของบริจาค
Read for the blind โครงการจิตอาสา ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
Read for the blind เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอาสาที่น่าสนใจ เพราะน้อง ๆ จะได้อ่านหนังสือเสียงให้แก่ผู้พิการทางสายตา ซึ่งขั้นตอนง่าย ๆ เพียงดาวน์โหลดแอปฯ read for the blind น้อง ๆ ก็สามารถเข้าใช้งานการอ่านได้ทันที
ธนาคารจิตอาสา
ธนาคารจิตอาสาเป็นธนาคารรับฝากเวลา (TimeBank) เป็นเว็บไซต์แหล่งรวมกิจกรรมอาสาต่าง ๆ มากมายให้เลือก น้อง ๆ สามารถระบุจำนวนเวลาที่ต้องการจะทำงานอาสา ทางเว็บไซต์จะมีระบบคัดเลือกและแนะนำ (matching) งานอาสาที่ตรงกับความสนใจและทักษะที่น้อง ๆ ทำได้ เพื่อให้น้องๆ ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ตามกำลังความสามารถอย่างเต็มที่
กิจกรรมอาสาเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมตัวอย่างเพียงเล็กน้อยไว้เป็นไอเดียให้น้อง ๆ ลองสมัคร เก็บชั่วโมง ยังมีกิจกรรมอาสาอีกมากมายที่รอให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ หรือพละกำลังในการช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากได้ทำกิจกรรมเพื่อนำมาใส่ในพอร์ตแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดน้อง ๆ จะได้ความอิ่มใจกลับไปอย่างแน่นอนค่ะ
เตรียมคะแนนสอบ BMAT กับ House of Griffin
เห็นไหมคะว่าการเตรียมพอร์ตแพทย์นั้นไม่ได้ยากแบบที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่น้อง ๆ จะได้รู้ว่าต้องเตรียมผลสอบอะไรบ้าง ควรเข้าร่วมกิจกรรมแบบใดบ้าง ควรสะสมผลงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร ยิ่งเราวางแผนได้เร็ว ก็จะยิ่งมีโอกาสที่เราจะได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราอยากเรียนมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำพอร์ตแพทย์ได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์แบบมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากเข้าแพทย์ด้วยคะแนน BMAT ที่สูง สามารถมาติวกับทางสถาบัน House of Griffin ได้เลย เพราะอย่างที่ทราบกันว่าการสอบ BMAT เปิดสอบแค่ 1 รอบต่อปี ดังนั้นจะไม่มีรอบแก้ตัวสำหรับปีที่จะยื่นสมัครสอบ มาติวที่นี่ น้อง ๆ จะได้ฝึก Speed Test ตะลุยคลังข้อสอบเก่าย้อนหลัง แถมยังได้ลองทำ Mock Test จำลองเหมือนวันสอบจริงทำให้คุ้นชินกับการทำข้อสอบ นอกจากนี้ยังสามารถมาติว IELTS หรือ TOEFL ซึ่งเป็นคะแนนที่ต้องยื่นควบคู่กับ BMAT ได้ด้วยเช่นกัน เรียกว่าติวครบ จบทุกวิชาที่ House of Griffin เลยค่ะ