
IGCSE คือ อะไร ?
International General Certificate of Secondary Education หรือ IGCSE คือ การสอบเทียบวุฒิระดับเทียบเท่า Year 10 – 11 ของประเทศอังกฤษที่ทาง CAIE (Cambridge Assessment International Education) เป็นผู้พัฒนาขึ้น โดยเป็นวุฒิพื้นฐานก่อนต่อยอดการสอบ A-Level/ AS-Level หรือ Cambridge Pre-U ที่สามารถใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลก ซึ่งสำหรับโรงเรียนนานาชาติหลากหลายแห่งในประเทศไทยก็ใช้หลักสูตร IGCSE ด้วยเช่นกัน
IGCSE เทียบเท่าวุฒิอะไร ?
กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยได้ออกประกาศรับรองว่า IGCSE คือ วุฒิการศึกษาที่เทียบเท่ากับระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 แต่หากต้องการเทียบวุฒิในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) จะต้องสอบ A-Level/ AS-Level เพิ่มอีก 3 รายวิชา ดังที่ได้ระบุเอาไว้ในประกาศที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เรื่อง เกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระบบคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2566 (TCAS67) ดังนี้
ระบบอังกฤษ
ผู้สมัครมี (1) ผลการสอบระดับ GCE ‘A’ Level จำนวนอย่างน้อย 3 วิชา เกรด A*-E หรือ (2) LRN International A Levels จำนวนอย่างน้อย 3 วิชา เกรด A*-E หรือ (3) ผลการสอบ Cambridge Pre-U จำนวนอย่างน้อย 3 วิชา เกรด M1 หรือ D1-D3
ข้อมูลอ้างอิง คลิก
IGCSE เหมาะกับใคร ?
IGCSE คือ การสอบที่เปิดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 14 – 16 ปี สามารถลงสมัครสอบได้ นอกจากจะเหมาะกับผู้ที่เรียนในหลักสูตรนานาชาติที่ใช้ระบบการศึกษาแบบประเทศอังกฤษแล้ว น้อง ๆ ที่เรียนในระบบ Home School หรือระบบอื่น ๆ เองก็สามารถลงสมัครสอบได้เช่นกัน ส่วนการสอบ A-Level หรือ AS-Level ที่เป็นรายวิชาเพิ่มเติมต่อยอดจาก IGCSE จะเปิดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 – 19 ปี สามารถลงสมัครสอบได้หลังจากสอบ IGCSE ผ่านตามเกณฑ์ เพื่อนำวุฒิไปยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ผู้สอบ IGCSE จะสามารถเลือก “รายวิชาที่ต้องการสอบ” ได้เองเป็นจำนวน 5 รายวิชา ก่อนต่อยอดไปสอบ A-Level/ AS-Level อีก 3 รายวิชา จึงจะแตกต่างจากการสอบเทียบวุฒิแบบ GED ที่สอบเพียงแค่ 4 รายวิชา (ไม่สามารถเลือกวิชาเองได้) ก็สามารถยื่นเทียบวุฒิม.6 ได้เลย ทำให้การสอบ IGCSE เหมาะกับน้อง ๆ ที่มีเป้าหมายการเรียนที่ชัดเจนและต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้พร้อมต่อการเรียนต่อในอนาคต
เลือกสอบ GED หรือ IGCSE แบบไหนดี ? อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่
IGCSE สอบอะไรบ้าง ?
น้อง ๆ จะต้องสอบ IGCSE ทั้งหมด 5 วิชา ด้วยเกรดไม่ต่ำกว่า C เพื่อผ่านหลักสูตร โดยวิชาที่บังคับสอบ คือ คณิตศาสตร์ (Mathematics) และ ภาษาอังกฤษ (English as a second language) และเลือกสอบเพิ่มอีก 3 วิชาได้ตามความถนัดแและตามความสนใจของผู้สอบ ซึ่งมีรายวิชาให้เลือกสอบมากกว่า 70 รายวิชาย่อย สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 หมวดหมู่ ดังนี้
- กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ* (English language and literature) เช่น English as a second language (Count-in-speaking), English (as an Additional Language), English (Literature in English), World Literature
- กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์* (Mathematics) เช่น Mathematics, Mathematics Additional, Mathematics International
- กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ (Sciences) เช่น Agriculture, Biology, Chemistry, Environmental Management, Marine Science, Physics
- กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Humanities and Social Sciences) เช่น Economics, Geography, Global Perspectives, History, Religious Studies, Sociology
- กลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ (Foreign Language) เช่น Arabic, Chinese, French, German, Italian, Portuguese, Spanish, Thai, Vietnamese
- กลุ่มวิชาทักษะวิชาชีพ (Creative and professional) เช่น Accounting, Art & Design, Business Studies, Computer Science, Design & Technology, Drama, Enterprise, Food & Nutrition, Information and Communication Technology, Music, Travel & Tourism
สามารถเลือกดูรายวิชาทั้งหมดได้ ที่นี่
ระบบคะแนนของ IGCSE
IGCSE จะแบ่งการคิดคะแนนออกเป็น 2 รูปแบบ ตามความยากของข้อสอบที่เลือก ได้แก่ ระดับพื้นฐาน (Core) และระดับสูง (Extended) โดยน้อง ๆ จะสามารถเลือกสอบได้เพียงระดับเดียวต่อ 1 รายวิชาเท่านั้น
- ข้อสอบ IGCSE ระดับพื้นฐาน (Core) จะมีการสอบเกี่ยวกับรายวิชานั้น ๆ ในระดับทั่วไป ใช้เวลาน้อยกว่า และจำนวนข้อน้อยกว่า Extended เกรดที่ได้จะมีตั้งแต่ C, D, E, F, G
- ข้อสอบ IGCSE ระดับสูง (Extended) จะเป็นการสอบเนื้อหาเชิงลึกของรายวิชานั้น ๆ มีจำนวนข้อสอบและเวลาสอบที่มากกว่าการสอบระดับพื้นฐาน (Core) เกรดที่ได้จะมีตั้งแต่ A*, A, B, C, D, E, F, G
เลือกสอบวิชา IGCSE อย่างไรดี ?
วันนี้พี่กริฟฟินจะมาแนะนำเพิ่มเติมหากเรายังไม่แน่ใจว่าจะสอบอะไรดี โรงเรียนส่วนใหญ่จะกำหนดให้นักเรียนต้องสอบอย่างน้อย 5 วิชา ซึ่งจะต้องมี 2 วิชาบังคับ ได้แก่ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ นอกเหนือจากวิชาหลักเหล่านี้แล้วน้อง ๆ สามารถเลือกวิชาอื่น ๆ จากหลายหลายสาขาวิชาได้ เช่น ศิลปะ, เทคโนโลยี, มนุษยศาสตร์ ฯลฯ
การเลือกวิชา IGCSE จะต้องคำนึงถึงความสนใจ แผนการเรียนและอาชีพในอนาคตที่น้อง ๆ แต่ละคนสนใจ รวมถึงวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการ เช่น
- หากน้อง ๆ สนใจที่จะเรียนหรือทำงานในสาย Technology เราก็ควรที่จะเลือกวิชา Design & Technology หรือ Computer Science ซึ่งถือเป็นวิชาพื้นฐานที่ควรมีในสายงานนั้น ๆ
- หากน้อง ๆ สนใจในการเรียนหรือทำงานในสายงานธุรกิจ วิชาที่ควรจะเลือกสอบก็คือ Business Studies, Enterprise, Accounting, Economics
- หากน้อง ๆ สนใจในสายงาน Engineer วิชาที่ควรจะเลือกสอบก็คือ Mathematics, Additional Mathematics, Chemistry, Physical Sciences
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่พี่กริฟฟินแนะนำ อย่างไรก็ตามน้อง ๆ ควรศึกษาวิชาที่จำเป็นต้องสอบหรือวิชาที่น้อง ๆ สนใจ ไม่จำเป็นต้องเลือกสอบหลายวิชาที่มากเกินไป เพียงแค่เลือกวิชาที่สามารถทำได้ดี เพื่อที่จะได้เกรดดี ๆ ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยนั่นเอง
การสมัครสอบและอัตราค่าสมัครสอบ IGCSE
สำหรับการสมัครสอบ IGCSE จะมีการเปิดสอบทั้งหมดปีละ 2 รอบ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี (ผลการสอบจะออกหลังวันสอบราว 2 เดือน) โดยจะมีการเปิดลงสมัครสอบ 2 รอบ ได้แก่ รอบปกติและรอบเก็บตก (ลงทะเบียนล่าช้า)
โดยน้อง ๆ สามารถเข้าไปสมัครสอบกับทาง British Counsil ได้โดยตรง
- เข้าไปที่ Website https://www.britishcouncil.or.th/ และเลือกสอบที่ประเทศไทย
- เลือกหน่วยงานจัดสอบเป็น Cambridge International จากนั้นเลือกช่วงเวลาการสอบ, ประเภทการสอบ, ศูนย์สอบ และรายวิชาที่ต้องการสอบ
- เข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกและชำระค่าสอบ
- ตรวจสอบรายละเอียดการสมัครสอบในอีเมล โดยผู้สอบจะได้อีเมลเตือนเกี่ยวกับรายละเอียดการสอบอีกครั้งหนึ่งภายใน 2 สัปดาห์ก่อนวันสอบ
ทั้งนี้ อัตราค่าสมัครสอบ IGCSE จะขึ้นอยู่กับรายวิชาที่เลือกสอบ แต่ในเบื้องต้นจะอยู่ที่ 6,300 – 11,000 บาท และมีค่าลงทะเบียนสอบล่าช้าเพิ่มเติมในกรณีลงสอบในรอบเก็บตก แต่หากเป็นการลงสอบซ้ำ ค่าสอบจะถูกลงจากอัตราค่าสอบปกติ
สอบ IGCSE ที่ไหนได้บ้าง ?
นอกจากการสมัครสอบกับทาง British Counsil แล้ว น้อง ๆ ยังสามารถสมัครสอบโดยตรงกับโรงเรียนนานาชาติที่เป็นศูนย์สอบ IGCSE เช่น Harrow International School Bangkok, Satit Bilingual School of Rangsit University (SBS) หรือ Singapore International School of Bangkok เป็นต้น
วิธีการเช็กผลสอบ IGCSE ออนไลน์
สามารถเช็คผลสอบ IGCSE ออนไลน์ได้ตามขั้นตอน ดังนี้
- ต้องลงทะเบียนเพื่อรับบริการผลสอบออนไลน์ ซึ่งต้องเข้าไปที่ Cambridge English Online Service
- คลิกปุ่มลงทะเบียน
- ใส่ ID ผู้สมัครและหมายเลขลับจากการยืนยันการเข้า
- ใส่ที่อยู่อีเมลและรหัสผ่าน
- เมื่อผลสอบพร้อม จะได้รับอีเมลยืนยัน จากนั้นจึงสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อดูผลสอบได้
คะแนน IGCSE และ A-Level/ AS-Level ใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง ?
หลังจากที่น้อง ๆ สอบ IGCSE ผ่านทั้ง 5 วิชา และสอบ A-Level/ AS-Level 3 วิชา ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำคะแนนไปเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อใช้เป็นเอกสารยื่นเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในหลักสูตรอินเตอร์ได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้เกณฑ์การรับเข้าศึกษาจะมีความต่างกันออกไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่เลือกเข้าเรียน ทาง House of Griffin จึงขอแนะนำให้น้อง ๆ เช็ก Requirement กับทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ การสมัครเรียนในบางหลักสูตรอาจต้องแนบคะแนนทดสอบความถนัดด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
ตัวอย่างรายชื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดรับการเทียบวุฒิการศึกษาระบบอังกฤษ (A-Level)
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยศิลปากร
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
- สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด
- มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ติว IGCSE ด้วยวิชาที่ใช่ เตรียมต่อยอด A Level สอบเทียบคว้าวุฒิ ม.ปลาย ระบบอังกฤษ
เตรียมพร้อมสอบ IGCSE ปูพื้นฐานแน่นต่อยอดสอบ A-Level/ AS-Level ยื่นวุฒิเทียบเท่า ม.6 เรียนต่อคณะในฝันกับ House of Griffin สถาบันติวสอบสำหรับเด็กสายอินเตอร์ที่เปิดให้บริการมากว่า 14 ปี เลือกเรียนได้ทั้งคอร์สติว IGCSE แบบตัวต่อตัว (Private) และแบบติวร่วมกับเพื่อนเป็นกลุ่มเล็ก (Semi-Private) ที่น้อง ๆ สามารถเลือกรายวิชาการเรียนเพื่อเสริมความรู้ได้ตามที่ต้องการ พร้อมเก็บเทคนิคการทำสอบแบบครบทุกจุด ตะลุยข้อสอบเก่าย้อนหลัง ติวเข้มอย่างละเอียดและครอบคลุมทุกประเด็น