
IELTS Speaking ยากไหม? ก่อนที่น้อง ๆ จะไปสอบ IELTS Speaking มาลองเช็กความพร้อมกับ 10 หัวข้อที่ต้องรู้ก่อนสอบ IELTS Speaking เพื่อให้มั่นใจเตรียมเก็บ band score 7.0+ กันเลย
1. รู้เกณฑ์การให้คะแนน IELTS Speaking และ CEFR Levels
น้อง ๆ ควรรู้ก่อนว่าการสอบ IELTS Speaking มีเกณฑ์การให้คะแนน 4 ข้อหลักด้วยกัน ได้แก่
- Fluency and coherence (ความคล่องและความเชื่อมโยงของเนื้อหาในการพูด)
- Lexical resource (คลังคำศัพท์ที่กว้างและหลากหลาย)
- Grammatical range and accuracy (ไวยากรณ์ที่ถูกต้องและมีรูปแบบหลากหลาย)
- Pronunciation (การออกเสียง)
นอกจากรู้ว่ามีเกณฑ์อะไรบ้างแล้ว ยังควรทำความเข้าใจรายละเอียดในเกณฑ์แต่ละข้อด้วย สิ่งที่ผู้สอบหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเกณฑ์บางข้อ เช่น หลายคนเข้าใจผิดว่าในเกณฑ์ Lexical resource เพื่อจะได้คะแนนสูง จำเป็นต้องใช้คำศัพท์วิชาการหรือคำศัพท์ทางการระดับสูงเท่านั้น ในความเป็นจริงไม่จำเป็น สิ่งที่กรรมการดูจากผู้สอบคือสามารถใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมกับบริบท ใช้ภาษาที่เป็นสำนวน (idiomatic language) ได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศัพท์ระดับสูงเสมอไป
อีกข้อที่หลายคนเข้าใจผิดคือ ในเกณฑ์ Pronunciation เพื่อให้ได้คะแนนสูงจำเป็นต้องพูดด้วยสำเนียงอังกฤษหรืออเมริกันเท่านั้น หากพูดสำเนียงไทยจะได้คะแนนน้อย สิ่งนี้ไม่จริง เนื่องจาก Pronunciation กับ สำเนียง (accent) เป็นคนละอย่างกัน เพื่อจะได้คะแนนสูง ผู้สอบต้องออกเสียงคำให้ชัด เก็บอักขระให้ถูกต้อง หากทำได้เช่นนี้ ไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงใดก็สามารถทำคะแนนสูงได้
น้อง ๆ สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มเติมได้จากลิงก์นี้
อีกสิ่งที่น้อง ๆ ต้องเข้าใจคือการวัดระดับภาษาตามมาตรฐาน Common European Framework of Reference for Languages หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CEFR เนื่องจากเป็นมาตรฐานการวัดระดับภาษาที่ข้อสอบ IELTS ใช้ในการให้คะแนนผู้สอบ โดยในมาตรฐาน CEFR จะแบ่งเป็นทั้งหมด 6 ระดับ ได้แก่ A1, A2, B1, B2, C1 และ C2 (ระดับ A1 คือต่ำที่สุด และ ระดับ C2 คือสูงที่สุด)
นอกจากนั้น ควรรู้ว่าคะแนน Band ของ IELTS แต่ละ Band นั้นเทียบเท่าได้กับระดับใดของ CEFR การที่น้อง ๆ เข้าใจสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวขั้นถัด ๆ ไป เช่น การเตรียมตัวเรื่องคำศัพท์ การวางแผนเรื่องเป้าหมายคะแนน (ซึ่งจะกล่าวในข้อ 2) และการวัดว่าระดับภาษาของตนเองเพียงพอสำหรับการใช้งานในสถานการณ์ใดบ้าง โดยทั่วไป สำหรับการเรียนในระดับอุดมศึกษาภาคภาษาอังกฤษในไทย หรือการเรียนระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ น้อง ๆ ควรอยู่ในระดับอย่างน้อย B2 ตามมาตรฐาน CEFR
สามารถดูการเทียบระดับ CEFR กับคะแนน IELTS ได้ในตารางด้านล่าง
2. รู้คะแนนเป้าหมายของตัวเองในการสอบ IELTS Speaking
เมื่อเข้าใจเกณฑ์การให้คะแนนและมาตรฐาน CEFR แล้ว ควรรู้เป้าหมายคะแนนที่ต้องการ เพื่อที่จะสามารถเตรียมตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่กดดันตัวเองมากเกินไป ตัวอย่างเช่น หากน้อง ๆ ต้องการคะแนนช่วง Band 6.0-6.5 นั่นหมายความว่า ในการสอบ IELTS Speaking น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องกังวลจนมากเกินไปว่าจะต้องพูดด้วยไวยากรณ์ที่ถูกต้องทุกประโยค หรือต้องใช้คำศัพท์ระดับสูงมาก ๆ เนื่องจากเพื่อจะได้ Band 6.0-6.5 การใช้ไวยากรณ์ผิดบ้าง หรือใช้คำศัพท์ระดับไม่สูงมาก ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ (ในบทความนี้ขอกำหนดเป็นตัวอย่างว่าคะแนนที่น้อง ๆ ต้องการคือ Band 6.0 ซึ่งเป็นคะแนนที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องการสำหรับระดับปริญญาตรี) หากเข้าใจเช่นนี้แล้ว จะช่วยให้น้อง ๆ ไม่เครียดกับการสอบจนมากเกินจำเป็น และช่วยให้มีแนวทางเตรียมตัวที่ชัดเจนขึ้นว่าควรเรียนคำศัพท์หรือไวยากรณ์มากน้อยแค่ไหน
3. สะสมคำศัพท์ / ไวยากรณ์ตามระดับคะแนนที่ต้องการ
สำหรับการเตรียมตัวเรื่องคำศัพท์และไวยากรณ์ หากต้องการ Band 6.0 (ซึ่งเทียบกับมาตรฐาน CEFR แล้วอยู่ในระดับ B2 – สามารถดูการเทียบคะแนนได้จากตารางด้านบน) น้อง ๆ ควรเก็บคำศัพท์ระดับ B2 ให้ได้มาก ๆ และถ้าเป็นไปได้ ควรเก็บคำศัพท์ระดับ C1 ไว้ด้วยเช่นกัน สำหรับคำศัพท์ระดับ C2 อาจยังไม่จำเป็นหากเป้าหมายคะแนนคือ Band 6.0
เมื่ออ่านถึงตรงนี้น้อง ๆ อาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าคำศัพท์ที่เรียนอยู่ในระดับใดของ CEFR วิธีการดูระดับคำศัพท์สามารถทำได้ดังนี้
น้อง ๆ สามารถเข้ามาที่เว็บไซต์ของ Cambridge Dictionary และพิมพ์คำศัพท์ที่ต้องการรู้ระดับ CEFR ลงไป เช่น ในภาพด้านล่าง เมื่อพิมพ์คำศัพท์ว่า imitate ลงไปและกดค้นหา จะเห็นว่าด้านบนคำแปลมีสัญลักษณ์เขียนไว้ว่า C1 นั่นหมายความว่าคำว่า imitate อยู่ในระดับ C1 ของ CEFR ดังนั้น คำศัพท์นี้จึงควรจำและนำไปใช้พูดหากต้องการคะแนนช่วง Band 6.0 ถึง 7.0
การที่น้อง ๆ ให้ความสำคัญกับคำศัพท์และไวยากรณ์ในระดับที่ตรงกับคะแนนที่ต้องการจะช่วยให้การเรียนมีเป้าหมายชัดเจน และช่วยลดความกดดันด้วย เนื่องจากน้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องจำคำศัพท์ทุกคำที่เรียนก็ได้ แต่เน้นคำศัพท์ที่เหมาะกับระดับตนเองก่อน เช่น หากต้องการ Band 6.0 การท่องคำศัพท์ระดับ C2 อาจยังไม่จำเป็นมาก
4. ท่องคำศัพท์สำหรับ IELTS Speaking อย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้จริง
ในการเรียนคำศัพท์ภาษาใดก็แล้วแต่ หากเพียงแค่ท่องจำความหมาย คำศัพท์ของเราจะอยู่ใน passive vocabulary หรือคลังคำศัพท์ที่เราเข้าใจความหมายเมื่ออ่านเจอหรือได้ยินคนอื่นพูด แต่ไม่สามารถนำมาใช้พูดหรือเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว นั่นแปลว่า หากจะทำ IELTS Speaking ให้ได้คะแนนดี เราควรทำให้คำศัพท์ที่เรียนมาย้ายจาก passive vocabulary มาอยู่ใน active vocabulary หรือคลังคำศัพท์ที่เราเข้าใจความหมายและนำมาใช้พูดและเขียนได้ด้วย การ activate คำศัพท์ทำได้โดยต้องหาโอกาสพูดภาษาอังกฤษและพยายามนำคำศัพท์ใหม่ที่ได้เรียนมาใช้จริง
5. ฝึกพูดและจำไอเดียคำตอบ
อ่านมาถึงข้อนี้ น้อง ๆ คงมีไอเดียในการเตรียมตัวเองเรื่องคำศัพท์และไวยากรณ์แล้ว แต่แน่นอนว่าหากเรียนคำศัพท์และไวยากรณ์แต่ขาดการ activate นั่นเท่ากับว่าสิ่งที่เรียนมาไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใน IELTS Speaking ได้ น้อง ๆ จึงควรหาโอกาสพูดภาษาอังกฤษให้มาก ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อนหรือครู ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้การสื่อสารทางไกลอยู่เพียงปลายนิ้ว มีหลายแอปพลิเคชันที่ช่วยให้น้อง ๆ ที่ไม่รู้จะพูดภาษาอังกฤษกับใคร สามารถหาเพื่อนต่างชาติมาช่วยฝึกภาษาอังกฤษได้ เช่น แอป HelloTalk ที่ช่วยให้เราหาเพื่อนจากประเทศต่าง ๆ ที่เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องภาษาและวัฒนธรรมได้
อีกสิ่งที่ช่วยให้น้อง ๆ พัฒนาการพูดได้คือ อย่ากลัวการพูดผิด และอย่ากลัวที่จะให้เจ้าของภาษาแก้จุดผิดให้เรา เนื่องจากการพูดใน IELTS Speaking ต่างจากการพูดในชีวิตจริงที่ว่าในข้อสอบ การที่เราใช้คำศัพท์และไวยากรณ์ที่ถูกต้องเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนเรา ต่างจากในชีวิตจริงที่คำศัพท์และไวยากรณ์อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ดังนั้น เพื่อเตรียมสอบ IELTS Speaking ควรหาเพื่อนหรือครูที่สามารถช่วยเราแก้จุดผิดได้ด้วย
6. ผ่อนคลายกับการสอบ IELTS Speaking ให้เหมือนคุยกับเพื่อน
หลายคนที่เรียนภาษามาเยอะมากและสามารถฟัง อ่าน และเขียนได้ดีมาก อาจพบว่าทำ IELTS Speaking ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องมาจากรู้สึกตื่นเต้น ทำให้ลืมสิ่งที่เรียนมาไปหมด ดังนั้น ก่อนเข้าห้องสอบและตอนอยู่ในห้องสอบ ให้น้อง ๆ คิดในใจว่าเรากำลังเข้าไปคุยเล่นกับเพื่อนใหม่ของเรา เพื่อนคนนี้อยากรู้เกี่ยวกับความคิดเราในเรื่องต่าง ๆ มาก และการคุยกันครั้งนี้จะสนุกมาก และสิ่งที่สำคัญมากกว่าคำศัพท์และไวยากรณ์เสียอีกก็คือการสื่อสารใจความที่ชัดเจน การออกเสียงที่ชัดเจน หากน้อง ๆ ผ่อนคลาย จะทำให้น้อง ๆ สามารถสื่อสารชัดเจนและมั่นใจ รวมถึงออกเสียงมาได้ชัดเจนอย่างเป็นธรรมชาติ บางครั้ง เมื่อเราไม่ตั้งใจกับการทำบางอย่างมากเกินไป ผลลัพธ์ก็จะออกมาอย่างดีและเป็นธรรมชาติอย่างไม่น่าเชื่อ
7. ฝึกใช้คำศัพท์หลากหลาย ทำภาษาให้มีสีสัน
สิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อคะแนน IELTS Speaking ตามที่กล่าวไปแล้วในข้อ 1 คือการใช้คำศัพท์ที่หลากหลาย และภาษาเชิงสำนวน (idiomatic language) ดังนั้น น้อง ๆ ควรฝึกใช้ synonyms (คำที่มีความหมายคล้ายกัน) ของคำศัพท์ที่เรารู้อยู่แล้วให้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น
หากต้องการพูดว่า การเรียนภาษาอังกฤษง่ายมากสำหรับเรา เชื่อว่าทุกคนสามารถพูดได้อยู่แล้วว่า
“Learning English is easy for me.”
ประโยคนี้ถูกต้องทั้งในด้านคำศัพท์และไวยากรณ์ แต่ยังขาดความเป็น idiomatic language และคำศัพท์ยังเป็นระดับพื้นฐานอยู่ (คำว่า easy อยู่ระดับ A1 ของ CEFR) หากน้อง ๆ ต้องการ Band 6.0 ขึ้นไป ควรฝึกใช้คำศัพท์ที่ระดับประมาณ B2 ถึง C1 หรือ idiomatic language บ้าง
ตัวอย่างเช่น
a piece of cake for me. (a piece of cake เป็นสำนวนที่มีความหมายเหมือนกับ easy และสำนวนนี้อยู่ระดับ B2)
Learning English is a pushover for me. (a pushover เป็นสำนวนที่มีความหมายเหมือนกับ easy)
Learning English is effortless for me. (effortless เป็นคำ adjective ที่มีความหมายเหมือนกับ easy และเป็นศัพท์ระดับสูงกว่า easy)
ดังนั้น น้อง ๆ ควรเก็บ synonyms และ idioms สำหรับคำที่มั่นใจได้ว่ามีโอกาสได้ใช้สูงมาก ๆ ใน IELTS Speaking เช่น คำที่แปลว่า difficult, good, bad, like, dislike ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่าง synonyms และ idioms ของคำศัพท์เหล่านี้ที่น้อง ๆ ควรนำไปฝึกใช้
คำที่แปลว่า difficult (คำศัพท์ที่แปลว่า difficult คือคำที่ทำตัวหนาในแต่ละประโยค)
แทนที่จะพูดว่า “Learning Spanish is difficult for me.”
ลองพูดว่า
“Learning Spanish is gruelling for me.”
“Learning Spanish is a tall order for me.”
“Learning Spanish is a struggle for me.”
คำที่แปลว่า good (คำศัพท์ที่แปลว่า good คือคำที่ทำตัวหนาในแต่ละประโยค)
แทนที่จะพูดว่า “That’s a good idea.”
ลองพูดว่า
“That’s a sound idea.”
“That’s a splendid idea.”
“That idea is spot on.”
คำที่แปลว่า bad (คำศัพท์ที่แปลว่า bad คือคำที่ทำตัวหนาในแต่ละประโยค)
แทนที่จะพูดว่า “That’s bad news! “
ลองพูดว่า
“That’s awful news!”
“That’s terrible news!”
“That’s a real let-down!”
คำที่แปลว่า like (คำศัพท์ที่แปลว่า like คือคำที่ทำตัวหนาในแต่ละประโยค)
แทนที่จะพูดว่า “I like rock music.”
ลองพูดว่า
“I find rock music fascinating.”
“Rock music is to my liking.”
“Rock music grows on me.”
“Rock music is my cup of tea.”
“I have a taste for rock music.”
“I have a predilection for rock music.”
8. ออกเสียงให้ชัดเจน ช่วยในการสอบ IELTS Speaking
เนื่องจาก pronunciation เป็นหนึ่งในเกณฑ์การให้คะแนน การออกสียงชัดเจนจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ระหว่างสอบน้อง ๆ จะต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งทำให้เสียงของเราเบาและไม่ชัดเจนได้ ซึ่งอาจทำให้กรรมการฟังที่เราพูดไม่รู้เรื่อง น้อง ๆ จึงควรฝึกออกเสียงให้ชัดเจน โดยมีเทคนิคดังนี้
- หนึ่งในเทคนิคที่ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรใช้ในการออกเสียงให้ชัดเจนคือการ project เสียงออกมา โดยวิธีการคือให้เราฝึกออกเสียงจากกระบังลม และฝึกการหายใจให้เป็นระบบ
- ในทุกวัน ให้น้อง ๆ ฝึกการ enunciate หรือการออกเสียงคำให้ชัดเจน โดยให้ลองหยิบคำศัพท์ที่เราเรียนมาออกเสียงให้ชัดเจน โดยอ้าปากให้กว้าง ออกเสียงให้ครบทุกตัวอักษร อีกเทคนิคเล็ก ๆ ที่มาช่วยได้คือ การ overpronounce หรือออกเสียงให้ชัดเจนมาก ๆ เกินกว่าที่เราออกเสียงกันในชีวิตจริง การที่ฝึก overpronounce จะช่วยให้ปากเราคุ้นเคยกับการออกเสียงคำศัพท์ที่ชัดเจน เวลาเราฝึก overpronounce คือเหมือนกับว่าเราออกเสียงไปเกิน 100% ซึ่งนั่นมากเกินกว่าสิ่งที่เราออกเสียงกันในชีวิตจริง แต่ประโยชน์ของการ overpronounce คือ เมื่อเราพูดในชีวิตจริง ตามธรรมชาติเราจะไม่ออกเสียงชัดเจนมากเท่าที่เรา overpronounce อยู่แล้ว ความชัดเจนของเราจะลดลงมา ซึ่งหากเราฝึก overpronounce ไว้ เมื่อเราพูดในชีวิตจริงความชัดเจนก็จะลดลงมาอยู่ในระดับที่ยังถือว่าค่อนข้างสูง
เช่น ก่อนเราฝึก overpronounce การออกเสียงเมื่อเราพูดแบบธรรมชาติอาจชัดเจนเพียง 50%
แต่เมื่อเราฝึก overpronounce ให้ขึ้นเกิน 100% บ่อย ๆ จะพบว่า ตอนที่เราพูดแบบธรรมชาติ (หรือตอนที่เราไม่ overpronounce) เราออกเสียงได้ชัดเจนประมาณ 70-80% เนื่องจากการ overpronounce ของเราได้ช่วยปรับปากของเราให้คุ้นเคยกับการออกเสียงชัดเจนไปแล้ว
9. ไม่ต้องรีบตอบมาก คิดคำตอบให้ดี
เมื่อได้คำถามมา ไม่จำเป็นต้องรีบตอบก็ได้ และการรีบตอบอาจทำให้เราขาดการตกตะกอนความคิด และจะทำให้เราพูดไม่ลื่นไหลได้ ดังนั้น จึกควรใช้เวลาประมาณ 1-2 วินาทีเพื่อคิดคำตอบให้ดีก่อนเริ่มพูด
10. ใช้ประโยคตัวช่วยในการสอบ IELTS Speaking
เมื่อเราต้องการเวลาในการคิดคำตอบ สิ่งที่ดีกว่าการเงียบไปคือการพูดประโยคตัวช่วย (fillers) สั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ฟังเป็นธรรมชาติ เช่น เมื่อเราต้องการเวลาคิด อาจพูดประโยคว่า Well, that’s a thought-provoking question. Let me think.
หรือเมื่อเราฟังคำถามไม่เข้าใจ ก็สามารถถามกรรมการให้พูดคำถามซ้ำได้ ซึ่งประโยคที่ดีกว่า Again please. ได้แก่ Pardon. I’m afraid I didn’t catch the question. Would you mind repeating it? หรือ Excuse me. I didn’t catch the last word in the question. Would you mind saying it again?
หากน้อง ๆ สนใจเรียนประโยค fillers เพิ่มเติม สามารถดูได้จากวิดีโอทางช่อง YouTube ของ House of Griffin ดังนี้