สอบ BMAT Section 1 เตรียมตัวอย่างไร?
สอบ BMAT section 1 เป็นข้อสอบปรนัย มีทั้งหมด 32 ข้อ (เดิมมี 35 ข้อ แต่มีการปรับ ในปี 2020) โดยคะแนน Scale score อยู่ที่คะแนน เต็ม 9 ใช้เวลา 60 นาที ข้อสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) Critical Thinking และ 2) Problem Solving ข้อสอบ Section นี้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดความพร้อมของนักเรียนที่จะเข้าไปเรียนหลักสูตรแพทย์ ต้องสามารถวิเคราะห์ สถานการณ์ต่างๆ เช่น ประวัติคนไข้ หรือ อาการของผู้ป่วย ดังนั้น ข้อสอบส่วนนี้จะค่อนข้างยากเป็นพิเศษ เพราะโจทย์ในข้อสอบจะให้นักเรียนแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์หาเหตุผลในเชิงลึก และการแก้ปัญหาโจทย์โดยใช้การคำนวณร่วมด้วย รวมไปถึงต้องแข่งกับเวลาที่จำกัด
ทั้งนี้ข้อสอบ Thinking skill มีการปรับเปลี่ยนข้อสอบ เราจะพามาอัปเดต ข้อสอบ Section 1 Thinking skill ในปี 2020 ล่าสุดกันว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้าง
จำนวนข้อสอบ BMAT Section 1
จำนวนข้อสอบ BMAT Section 1 ทั้งหมด มีการเปลี่ยนแปลงจาก 35 ข้อ โดยมีชื่อเดิมคือ Aptitude test ได้ปรับมาเหลือ 32 ข้อ และเรียกข้อสอบชุดนี้ว่า Thinking Skill แทน โดยที่ยังมีเวลาในการสอบเท่าเดิม คือ 60 นาที โดยจะแบ่งเป็น 16 ข้อสอบ Problem Solving และอีก 16 ข้อเป็น Critical Thinking
รูปแบบของข้อสอบ
ข้อสอบในปี 2020 จะไม่มีข้อสอบที่ประกอบด้วยบทความยาว 1 บทความ และตามมาด้วยคำถาม 4-5 ข้อ อีกต่อไป แต่ข้อสอบยังคงเป็นแบบปรนัย (Multiple choices) ที่ให้ให้เลือกตอบข้อถูกจาก 5 ข้อเช่นเดิม
เรามาดูในแต่ละส่วนใน Section 1 กันนะครับ ว่าข้อสอบเป็นอย่างไรบ้าง
1. Critical Thinking
ข้อสอบ BMAT ในส่วน Critical Thinking จะเป็นข้อสอบที่วัดทักษะทางด้านการคิดวิเคราะห์ ซึ่งมักเป็นทักษะที่สำคัญกับการศึกษาเชิงวิชาการในหลายๆ แขนง โดยตัวข้อสอบต้องการให้ผู้ทำข้อสอบสามารถหาและเข้าใจความคิดเห็นหลัก (main argument) ของบทความที่มีการนำเสนอโดยมีการใช้หลักฐาน (premise) ในการสนับสนุน รวมทั้งสิ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การยอมรับเหตุผลและข้อโต้แย้งหลักในบทความเสมือนว่าเป็นเรื่องจริงห้ามมีข้อโต้แย้งใดๆ
ลักษณะของข้อสอบ
- Identifying the Main Conclusion (การระบุหาข้อสรุปหลักของบทความ)
- Drawing Conclusion (การสรุปจากบทความ)
- Identifying Assumptions (การระบุหาสมมติฐานของบทความ)
- Detecting Reasoning Errors (การหาข้อผิดพลาดในการให้เหตุผล)
- Assessing the Impact of Additional Evidence (การประเมินผลกระทบของหลักฐาน)
- Matching Arguments (การจับคู่วิธีการให้เหตุผลของ Arguments)
- Applying Principles (การประยุกต์ใช้หลักการของ Arguments)
ระดับทักษะภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับการทำข้อสอบ BMAT ในส่วน Critical Thinking
ผู้สอบ BMAT จะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีคลังศัพท์ที่กว้างครอบคลุมความรู้หลายแขนง ถึงแม้ว่าระดับคำศัพท์ของข้อสอบจะไม่ได้ยากมากเกินไป แต่บทความในข้อสอบจะมีการนำเรื่องที่เกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ อาชญาวิทยา ดาราศาสตร์ กฎหมาย รวมไปถึง แพทยศาสตร์ และอื่นๆ มาเป็นบทความในการออกข้อสอบ ดังนั้น ผู้สอบที่มีคลังศัพท์ทางภาษาอังกฤษที่น้อยอาจจะพบปัญหาในการทำความเข้าใจเนื้อหาของบทความ
เนื้อหาที่ออกสอบ BMAT – November 2020
Content specification | Number |
---|---|
Total | 16 |
Identifying the Main Conclusion | 3 |
Drawing Conclusion | 3 |
Identifying Assumptions | 2 |
Detecting Reasoning Errors | 1 |
Assessing the Impact of Additional Evidence | 2 |
Matching Arguments | 3 |
Applying Principles | 2 |
จะเห็นได้ว่าข้อสอบในปีนี้จะเน้นออกเนื้อหา Matching Arguments และ Applying Principles ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนหน้านี้ที่จะเน้นข้อสอบ Assessing the Impact of Additional Evidence หรือ Detecting Reasoning Errors
เรามาดูตัวอย่างข้อสอบของปีล่าสุด 2020 กันดีกว่า
จากโจทย์ เป็นการถาม Matching Argument (parallel reasoning) หรือการให้ผู้สอบจับคู่วิธีการให้เหตุผลที่คล้ายคลึงกับบทความ โดยบทความมีความหมายว่า
“คุณสามารถสอบภาคปฏิบัติได้หลังจากที่คุณผ่านการสอบภาคทฤษฏีแล้วเท่านั้น คุณสอบตกภาคทฤษฏี ดังนั้นคุณจึงไม่สามารถสอบภาคปฏิบัติได้”
ในการทำข้อสอบเชิง Matching Argument ผู้สอบต้องมองบทความให้เป็นเหมือนสมการ กล่าวคือ การสอบภาคปฏิบัติ = X การสอบภาคทฤษฏี = Y
“คุณสามารถสอบภาคปฏิบัติได้หลังจากที่คุณผ่านการสอบภาคทฤษฏีแล้วเท่านั้น” จะมีสมการคือ จะเกิด X ต้อง เกิด Y ก่อน = X ← Y
“คุณสอบตกภาคทฤษฏีดังนั้นคุณจึงไม่สามารถสอบภาคปฏิบัติได้”
แต่เนื่องจาก ไม่มี Y เลยไม่มี X = -Y → -X
สรุป เราจึงได้สมการ X ← Y -Y → -X นั่นเอง
ขั้นตอนต่อมาคือการ Matching โดยการวิเคราะห์จากคำตอบที่โจทย์ให้มาในแต่ละข้อ ซึ่งตรงนี้ ผู้สอบก็จะต้องเปลี่ยนจากประโยคภาษาอังกฤษให้เป็น สมการ เช่นกัน
คำตอบที่ได้คือ D “To enter China you need a visa. You don’t have a visa, so you cannot enter China”
“เพื่อที่จะเข้าประเทศจีนคุณต้องมีวีซ่า คุณไม่มีวีซ่าดังนั้นคุณจึงเข้าประเทศจีนไม่ได้”
วิเคราะห์สมการ เข้าประเทศจีน = X วีซ่า = Y
“เพื่อที่จะเข้าประเทศจีนคุณต้องมีวีซ่า” = X ← Y
“คุณไม่มีวีซ่าดังนั้นคุณจึงเข้าประเทศจีนไม่ได้” = -Y → -X
สรุป X ← Y -Y → -X ทำให้ข้อนี้เป็นคำตอบนั่นเอง
สิ่งที่ต้องระวังในการทำข้อสอบ BMAT รูปแบบใหม่
เนื่องจากในปี 2020 ทาง Cambridge Assessment Admissions Testing ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อสอบโดยการลดจำนวนข้อ และปรับรูปแบบข้อสอบ ถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนข้อสอบจะเป็นการปรับเปลี่ยนให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียที่ตามมาคือผู้สอบจะไม่สามารถหาข้อสอบเก่า (past papers) ที่เหมาะสมมาใช้ในการฝึกทำข้อสอบ หรือทำ Mock exam ได้นั่นเอง
เนื้อหาที่ควรระวังในการสอบ
ข้อสอบที่เป็นการวัด Identifying Assumptions เป็นข้อสอบที่ต้องใช้เวลาในการทำค่อนข้างมาก เนื่องจาก Assumptions เป็นสิ่งที่ผู้เขียนบทความไม่ได้ชี้แจงออกมาแบบโจ่งแจ้งจึงทำให้ผู้สอบประสบปัญหาในการระบุ หรือ ประสบปัญหาในการเลือกข้อตอบเพราะบ่อยครั้งที่ผู้สอบจะลืมไปว่า Assumptions คือสิ่งที่ไม่ได้ระบุมาและไปเลือกตอบข้อเนื้อหาที่มีการระบุมาในบทความ ซึ่งผิด ดังนั้น การทำ Identifying Assumptions ผู้สอบจะต้องมีความรอบคอบเป็นอย่างมาก
2. Problem Solving
มีจำนวน 16 ข้อ เน้นการแก้ปัญหาทางด้าน รูปภาพ ตัวเลข และใช้ทักษะคณิตศาสตร์มาแก้ปัญหา เช่น การแก้สมการเส้นตรง สามารถวิเคราะห์ข้อมูล จากตาราง, กราฟ หรือ passage ซึ่งบางครั้งโจทย์จะให้มาค่อนข้างจะยาว ประมาณ 1 หน้ากระดาษ ซึ่งต้องขอบอกว่าข้อสอบส่วน Problem solving ใน Section 1 จะต่างกับโจทย์คณิตศาสตร์โดยคนออกข้อสอบมักจะสร้างโจทย์มาจากสถานการณ์ชีวิตประจำวัน เช่น เวลาในการเข้าทำงานของบริษัท หรือการกู้บ้าน โดยให้เปรียบเทียบกันว่าธนาคารใดน่าจะมีดอกเบี้ยน้อยสุดและคุ้มสุด ซึ่งผู้สอบต้องคำนวณโดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์มาแก้ไข และต้องดูเงื่อนไขของโจทย์ให้รอบคอบเพราะข้อมูลที่ให้มา บางข้อมูลอาจไม่ใช้ รวมทั้งอาจจะมีโจทย์แนวมองรูป 2-3 มิติ
สอบ BMAT Problem solving สามารถแบ่งแนวเป็นทั้งหมด 4 แนวหลัก ๆ ดังนี้
1. Basic calculation and Equation: ลักษณะจะเป็นการแก้สมการทั่วไป โดยต้องนำเงื่อนไขที่เขาให้มาแก้สมการ มีทั้ง ตัวแปรเดียวหรือสองตัวแปร ซึ่งผู้สอบต้องอ่านโจทย์ระวังและรอบคอบเพราะบางครั้งอาจเป็นเงื่อนไขหลอก และไม่จำเป็นต้องนำมาคิดก็ได้
2. Data analysis (table, graph, chart): ข้อสอบจะให้ตาราง หรือกราฟ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาคิด เพื่อหาคำตอบตามที่โจทย์ได้สร้างเงื่อนไขไว้ เช่น เปรียบเทียบว่าสิ่งใดถูกที่สุดหรือแพงที่สุดหรือตรงตามเงื่อนไขที่สุด
3. Ratios, Percent, and Proportions: ข้อสอบจะนำมาจากเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การหาอัตราส่วนของ การผสม สี เช่น โจทย์ให้ถังสีมา และถามว่าจะเหลือสีดังกล่าวกี่ลิตร โดยมีการใช้ถังสีต่าง ๆ ผสมกัน เช่น เพื่อให้ได้ สีชมพู (สีแดง ผสมกับ สีขาว) สีเขียว (สีน้ำเงิน ผสมกับ สีเหลือง) และให้เราหาคำตอบว่าหลังจากที่ใช้ผสมสีกันแล้วจะเหลือถังสีอยู่กี่ลิตร ทั้งนี้ผู้สอบต้องนำ Ratios, Percent, and Proportions มาใช้โดยแก้สมการ
4. Guessing (Pins, Clocks etc.), Spatial (มิติสัมพันธ์): แนวนี้จะเป็นแนวให้เราเดาตัวเลขหรือหน้าลูกเต๋า พี่ขอเสริม Trick ว่าหากจะทำได้เร็ว แนะนำนำให้ดูจาก choice เป็นตัวช่วยเพื่อให้เราหาคำตอบได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้มีน้องหลายคนถามว่า หากทำ Section1 จาก Past paper ยังไม่สามารถทำได้ น้องสามารถหาโจทย์ที่แนวใกล้เคียงกันแต่ง่ายกว่าได้จากข้อสอบที่ชื่อว่า Thinking Skills Assessment (TSA) ใน Section 1 ตามลิงค์นี้ได้เลยครับ
ถ้าน้อง ๆ พร้อมแล้วก็ไปกันต่อที่ >> ข้อสอบ BMAT Section 2