Skip to content

เคล็ดลับเตรียมตัวสอบ BMAT ทุกพาร์ท เก็บทุกคะแนน

BMAT

วันสอบ BMAT ประจำปี 2565 เพิ่งมีประกาศออกมา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจากนี้ น้อง ๆ ที่อยากจะเข้าแพทย์อินเตอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ต้องเริ่มเตรียมตัวสอบ BMAT กันได้แล้วนะคะ เพราะบอกเลยว่าข้อสอบ BMAT ค่อนข้างยากปราบเซียนกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเรามีการเตรียมตัวอย่างดี ฝึกฝนบ่อย ๆ รับรองว่าไม่เกินความสามารถแน่นอน  ซึ่งวันนี้พี่กริฟฟินมีเคล็ดลับดี ๆ ในการเตรียมตัวสอบ BMAT ในทุก ๆ พาร์ท เพื่อให้น้อง ๆ สามารถทำคะแนนได้อย่างดีเลิศ และสามารถเก็บคะแนนได้ทุกเม็ด รับรองว่าใครที่ได้เคล็ดลับนี้ไป คะแนนปังแน่นอนค่ะ

ก่อนที่เราจะมาล้วงเคล็ดลับเตรียมตัวสอบ BMAT เรามาทำความรู้จัก BMAT แบบคร่าว ๆ กันก่อนค่ะ BMAT หรือ BioMedical Admission Test จัดโดย Cambridge Assessment Admissions Testing, University of Cambridge เป็นข้อสอบเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์, ทันแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์ ข้อสอบ BMAT แบ่งออกเป็น 3 Sections ได้แก่ Thinking Skill, Scientific Knowledge & Applications และ Writing Task 

อ่านเพิ่มเติม BMAT คืออะไร 

เคล็ดลับเตรียมตัวสอบ BMAT แต่ละพาร์ท

วันนี้พี่กริฟฟินมีเคล็ดลับในการเตรียมตัวสอบ BMAT แบบเจาะลึกในแต่ละ Section เพื่อให้น้อง ๆ สามารถลงลึกกับข้อสอบและสามารถเก็บทุกคะแนน เรามาเริ่มกันที่ Section แรกกันก่อนเลยค่ะ

เตรียมตัวสอบ BMAT Section 1 : Thinking Skill

ในส่วนของ Section แรก Thinking Skill จะแบ่งเป็นการสอบ Critical Thinking และ Problem Solving ซึ่ง Critical Thinking เป็นข้อสอบที่วัดทักษะทางด้านการคิดวิเคราะห์ ส่วน Problem Solving เน้นการแก้ปัญหาทางด้าน รูปภาพ ตัวเลข และใช้ทักษะคณิตศาสตร์มาแก้ปัญหา

รายละเอียด Section 1 Thinking Skill คลิก 

เตรียมตัวสอบ Section 2 : Scientific Knowledge & Applications

ในส่วนของ Section 2 Scientific Knowledge & Applications นี้ถึงแม้ว่าหัวข้อในการสอบจะเป็นระดับปกติทั่วไป แต่คำถามต้องการให้น้อง ๆ แสดงความเข้าใจในการนำไปใช้ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ดังนั้นแล้วน้อง ๆ จะต้องทบทวนและทำความคุ้นชินกับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้กับข้อสอบค่ะ

เจาะลึกข้อสอบ BMAT Scientific Knowledge & Applications คลิก 

ทั้งสอง Section นี้เป็นข้อสอบปรนัยซึ่งเคล็ดลับที่พี่กริฟฟินนำมาฝากเพื่อเป็นการเตรียมตัวสอบมี ดังนี้

  1. เริ่มจากการอ่านคู่มือคำถามใน Section 1 และ Section 2 ซึ่งจะมีคำอธิบายและตัวอย่างคำถามแต่ละประเภท ทำให้น้อง ๆ จะได้รู้แนวทางของคำถามก่อนเริ่มการสอบ
  2. ให้น้อง ๆ ดาวน์โหลดแบบฝึกหัด พร้อมคำอธิบายคำตอบจาก Website จากนั้นให้ลองทำแบบฝึกหัดแบบไม่แอบดูคำตอบ และเมื่อทำเสร็จแล้วให้น้อง ๆ ลองเช็กคำอธิบายคำตอบควบคู่กันไปกับข้อสอบที่เราทำ เพื่อเป็นการทบทวนอีกรอบ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้น้อง ๆ เข้าใจในรูปแบบคำถามและคำตอบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อที่เราไม่มั่นใจ
  3. หาข้อสอบเก่ามาฝึกทำบ่อย ๆ เมื่อน้อง ๆ เริ่มคุ้นชินกับคำถามแต่ละประเภทแล้ว ให้ลองทำข้อสอบภายใต้เงื่อนไขที่มีการจับเวลา ซึ่งความยากมันอยู่ที่ตรงนี้เลยค่ะ เพราะมันจะเพิ่มความกดดันเข้ามาอีก แต่อย่างไรก็ตามถ้าฝึกบ่อย ๆ น้อง ๆ จะเกิดความชำนาญและจะรู้สึกไม่กดดันเมื่อถึงเวลาลงสนามสอบจริง
  4. หลังจากที่ได้ลองฝึกทำข้อสอบแล้วให้ลองวิเคราะห์ตัวเองดูว่าข้อไหนที่เราทำได้ดี ข้อไหนที่ยากและใช้เวลาเยอะ เพื่อที่น้อง ๆ จะได้มาฝึกฝนและพัฒนากลยุทธ์ในการทำข้อสอบของตัวเองได้อย่างดี ข้อไหนทำได้ดีก็ฝึกให้ใช้เวลาน้อยลงในการตอบคำถาม ข้อไหนที่ยากก็ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ฝึกทำบ่อย ๆ พี่กริฟฟินเชื่อว่าทำได้แน่นอนค่ะ
  5. บอกได้เลยว่าที่สุดของความยากในการสอบ BMAT ก็คือความกดดันในเรื่องของเวลา น้อง ๆ ต้องพยายามตอบคำถามให้ได้ทุกข้อ หากติดข้อไหนที่ทำไม่ได้ในส่วนของ Section 1 และ Section 2 นี้ให้ข้ามไปทำข้ออื่นก่อนเลยค่ะ จะได้ไม่เสียเวลา เมื่อทำข้อที่มั่นใจได้แล้วค่อยย้อนกลับมาทำข้อที่เรายังติดอยู่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้น้อง ๆ มีเวลาคิดวิเคราะห์มากขึ้นและไม่เสียกำลังใจในการสอบ
  6. หากไม่แน่ใจในคำตอบและเวลาใกล้หมดลง แนะนำให้น้อง ๆ เลือกตอบข้อที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด การสอบ BMAT หากตอบผิดไม่เสียคะแนน ดังนั้นแล้วหากทำไม่ได้จริง ๆ ก็ควรค่าแก่การเดาค่ะ

เตรียมตัวสอบ BMAT Section 3 : Writing task

Section 3 Writing task เป็นข้อสอบอัตนัย ข้อสอบจะเน้นการแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์ และความสมเหตุสมผล นอกจากนั้นการทดสอบจะวัดเรื่องการใช้ไวยากรณ์ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ และการเรียบเรียงประโยคให้สัมพันธ์กัน น้อง ๆ สามารถเตรียมตัวสอบ BMAT Writing task ได้ดังนี้

1.ฝึกพิจารณาปัญหาทั้งสองแง่มุม

พี่กริฟฟินแนะนำให้ลองฝึกการวิเคราะห์ข้อคิดเห็นที่แตกต่างและฝึกการให้เหตุผลในการโต้แย้งกับมุมมองที่แตกต่างกัน น้อง ๆ อาจเริ่มด้วยการจดความคิดตัวเองลงไปก่อน จากนั้นพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนในมุมมองของน้อง ๆ เพื่อให้การเขียน Essay ดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ในระหว่างการเตรียมตัวสอบ BMAT แนะนำให้ลองอ่านบทความต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ หรือบทความเกี่ยวกับการแพทย์ในปัจจุบัน เพราะการอ่านบทความเหล่านี้ถือเป็นการฝึกฝนเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้น้อง ๆ เกิดไอเดียในการเขียนบทความและรู้จักการแสดงความคิดเห็นได้มากยิ่งขึ้น

2. จับเวลาในการเขียน Essay

ในการเตรียมตัวสอบ BMAT Writing Task สิ่งที่น่ากดดันที่สุด คือ เรื่องของเวลาที่จำกัด ดังนั้นในการเตรียมตัวสอบ BMAT เราควรต้องลองฝึกโดยการเขียนตอบคำถามและจับเวลาแบบจริงจังดูว่าใช้เวลานานแค่ไหนในการเขียน วิธีนี้จะทำให้เราสามารถวางแผนการเขียนของตัวเองได้ดี ฝึกเขียนบ่อย ๆ ให้ชิน เพราะเมื่อถึงเวลาสอบน้อง ๆ จะได้สามารถเขียนคำตอบได้อย่างราบรื่นนั่นเอง

3. ทำความคุ้นเคยกับคำถาม

ให้น้อง ๆ ลองหาแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่า ๆ มาลองนั่งทำพร้อมจับเวลา ยิ่งลองได้อ่านและฝึกเขียนในหัวข้อที่แตกต่างกันหลาย ๆ หัวข้อยิ่งดีเพราะจะทำให้น้อง ๆ เกิดความคุ้นชินกับคำถามและจะทำให้น้อง ๆ มีไอเดียมากยิ่งขึ้นในการหาเหตุผลมาสนับสนุนการเขียน Essay ของตัวเอง สุดท้ายพี่กริฟฟินอยากให้น้อง ๆ ศึกษาเกณฑ์การให้คะแนนเพิ่มเติมด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการเขียนตอบคำถาม น้อง ๆ จะได้มีแนวทางว่าควรเขียน Essay อย่างไรให้ได้คะแนนตามเกณฑ์

4. การวางแผนการเขียนเรียงความเป็นสิ่งสำคัญ

เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดในการเขียนเพียง 1 หน้ากระดาษ A4 หรือไม่เกิน 550 คำ ดังนั้นแล้วน้อง ๆ จะต้องวางแผนการเขียนให้ดี ตอบคำถามให้ครอบคลุมและตรงประเด็นมากที่สุด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเขียนเรียงความมีโครงสร้างที่ชัดเจนในการอธิบายคำถาม นำเสนอคำอภิปรายให้เห็นภาพ และปิดด้วยการสรุปแบบได้ใจความ หากน้อง ๆ มีการเขียนอธิบายเสนอข้อเท็จจริง ต้องมั่นใจว่าถูกต้องและมีข้อสนับสนุนข้อเท็จจริงนั้น และหากจะต้องมีการยกตัวอย่าง พยายามทำให้สั้นและได้ใจความ ขอแต่เนื้อเน้น ๆ เพราะอย่าลืมว่าเรามีพื้นที่จำกัดในการเขียนค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดของการทำข้อสอบ Section นี้เลยก็คือให้ตอบทุกประเด็นของคำถาม เพราะหากไม่ตอบคำถามทุกส่วน เรียงความของน้อง ๆ จะไม่สามารถได้คะแนนสูงอย่างที่ตั้งใจแน่นอน

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้ใช้เวลาทบทวนพร้อมตั้งคำถามกับตัวเอง ดังนี้

  • กล่าวถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำถามหรือไม่
  • คำตอบมีการจัดเรียงเนื้อหาได้ชัดเจนหรือไม่
  • ได้ใช้ความรู้และความคิดเห็นทั่วไปในการตอบคำถามอย่างเหมาะสม
  • ได้มีการพิจารณามุมมองและข้อโต้แย้งอื่นเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นหรือไม่

สิ่งที่ควรรู้ในการสอบ BMAT

  1. การสอบ BMAT จะไม่สามารถใช้เครื่องคิดเลขหรือพจนานุกรมในระหว่างการสอบ BMAT ได้
  2. น้อง ๆ สามารถจด Short note เพื่อหาคำตอบและวางแผนการเขียนเรียงความในหัวข้อที่ 3 เพื่อให้การตอบคำถามของน้อง ๆ สมบูรณ์ที่สุด
  3. เวลาของแต่ละ Section นั้นมีจำกัด น้อง ๆ จะต้องบริหารจัดการเวลาในการสอบแต่ละ Section ให้เป๊ะที่สุด เนื่องจากไม่สามารถใช้เวลาของ Section อื่นมาทำแทนได้ พูดง่าย ๆ ก็คือเวลาของแต่ละ Section หมดแล้วหมดเลยนั่นเองค่ะ

นี่เป็นเพียงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พี่กริฟฟินนำมาฝากน้อง ๆ หากสามารถเตรียมตัวได้ครบทั้งหมดนี้แล้ว รับรองว่าน้อง ๆ จะสามารถเก็บคะแนนในทุก Section อย่างที่ตั้งใจอย่างแน่นอน

เตรียมตัวสอบ BMAT กับ House of Griffin

BMAT รอบประจำปี 2565 จะเริ่มเปิดรับสมัครในวันที่ 1-30 กันยายน 2565 จัดสอบในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 และประกาศผลวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ใครที่สนใจอยากเรียนสายแพทย์ อยากติวเพื่อเพิ่มคะแนน House of Griffin มีเปิดคอร์ส Intensive Sections 2 สอนสด จัดเนื้อหาแน่น พร้อมฝึก Speed Test ตะลุยคลังข้อสอบเก่าย้อนหลัง แถมยังให้ลองทำ Mock Test จำลองเหมือนวันสอบจริง ทำการจับเวลาสอบ ฝึกจนคุ้นชินกับสถานการณ์ รับรองเลยว่าถ้ามาเตรียมตัวสอบ BMAT กับ House of Griffin ไม่ผิดหวังแน่นอน

Share this article