Skip to content

สายแพทย์ต้องรู้ รวมข้อสอบความถนัดแพทย์สำหรับหลักสูตรนานาชาติ

รวมข้อสอบความถนัดแพทย์

ว่าที่หมอในอนาคตคนไหนที่กำลังหาข้อมูลเตรียมตัววางแผนเรียนต่อคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศ หรือสอบเข้าหลักสูตรนานาชาติของคณะแพทย์ในประเทศไทย วันนี้ทาง House of Griffin ขอพาทุกคนไปรู้จักกับข้อสอบความถนัดแพทย์ประเภทต่าง ๆ ที่ควรทราบก่อนวางแผนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคตกันแบบเจาะลึก ทั้งรายละเอียดข้อสอบ วิธีการสมัครสอบ อัตราค่าสอบ และสรุปความแตกต่างของข้อสอบแต่ละประเภทกัน

ข้อสอบความถนัดแพทย์ มีกี่แบบ แต่ละแบบสอบอะไรบ้าง?

ข้อสอบความถนัดแพทย์ UCAT

University Clinical Aptitude Test หรือ UCAT คือ ข้อสอบวัดระดับความถนัดทางคลินิกสำหรับการศึกษาต่อในคณะวิชาสายการแพทย์และทันตกรรมที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ (เครือสหราชอาณาจักร), สิงคโปร, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และมหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศไทยให้การยอมรับ ลักษณะของข้อสอบ UCAT จะเป็นแบบปรนัย (เลือกตอบ) ที่ผู้เข้าสอบจะต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์ (computer-based test) กำหนดเวลาในการทำข้อสอบที่ 2 ชั่วโมง โดยจะแบ่งเนื้อหาการสอบออกเป็นทั้งหมด 5 ส่วน ดังนี้

  1. Verbal Reasoning หรือข้อสอบประเมินความสามารถด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเหตุผลอย่างรอบคอบ
    มีจำนวนข้อสอบทั้งหมด 44 ข้อ
    กำหนดคะแนนการสอบที่ระหว่าง 300 – 900 คะแนน
    กำหนดเวลาสอบ 21 นาที
  2. Decision Making หรือข้อสอบประเมินทักษะด้านการตัดสินใจอย่างเฉียบคม โดยตัวข้อสอบอาจมีแผนภูมิรูปภาพหรือกราฟต่าง ๆ ให้วิเคราะห์ร่วมด้วย
    มีจำนวนข้อสอบทั้งหมด 29 ข้อ (ข้อละ 2 คะแนน)
    กำหนดคะแนนการสอบที่ระหว่าง 300 – 900 คะแนน
    กำหนดเวลาสอบ 31 นาที (อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขในระหว่างการสอบได้)
  3. Quantitative Reasoning หรือข้อสอบประเมินทักษะการใช้เหตุผลด้านปริมาณ ตัวข้อสอบจะเน้นไปที่การใช้ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ อาจมีกราฟต์ต่าง ๆ ให้วิเคราะห์ร่วมด้วย
    มีจำนวนข้อสอบทั้งหมด 36 ข้อ
    กำหนดคะแนนการสอบที่ระหว่าง 300 – 900 คะแนน
    กำหนดเวลาสอบ 25 นาที (อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขในระหว่างการสอบได้)
  4. Abstract Reasoning หรือข้อสอบประเมินความสามารถด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเหตุผลในเชิงนามธรรม ในตัวข้อสอบจะมีรูปภาพในลักษณะต่าง ๆ ให้จับคู่
    มีจำนวนข้อสอบทั้งหมด 50 ข้อ
    กำหนดคะแนนการสอบที่ระหว่าง 300 – 900 คะแนน
    กำหนดเวลาสอบ 12 นาที
  5. Situational Judgement หรือข้อสอบประเมินความสามารถในการตัดสินใจและแสดงออกอย่างเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง
    มีจำนวนข้อสอบทั้งหมด 69 ข้อ
    กำหนดเวลาสอบ 26 นาที

ข้อสอบความถนัดแพทย์ MCAT

The Medical College Admission Test หรือ MCAT คือ ข้อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะทางการแพทย์ที่จัดสอบโดยสมาคมวิทยาลัยการแพทย์อเมริกัน (AAMC – Association of American Medical Colleges) ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาว่าเป็นการสอบคัดนักศึกษาแพทย์ที่มีคุณภาพ โดยในประเทศไทยเองก็สามารถใช้คะแนน MCAT ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศไทยได้เช่นกัน โดยตัวข้อสอบจะเป็นในรูปแบบปรนัย (เลือกตอบ) ฉบับภาษาอังกฤษทั้งหมด จำนวน 230 ข้อ มีคะแนนเต็มอยู่ที่ 528 คะแนน กำหนดเวลาการสอบที่ 6 ชั่วโมง 15 นาที แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  1. Biological and Biochemical Foundations of Living Systems (พื้นฐานชีววิทยาและชีวเคมีของระบบสิ่งมีชีวิต) ในอัตราส่วนชีววิทยา 65%, ชีวเคมี 25%, เคมีเบื้องต้น 5%, และเคมีอินทรีย์ 5%
    จำนวนทั้งหมด 59 ข้อ
    คะแนนเต็ม 132 คะแนน และ
    กำหนดเวลาการสอบที่ 95 นาที
  2. Chemical and Physical Foundations of Biological Systems (พื้นฐานเคมีและฟิสิกส์ของระบบสิ่งมีชีวิต) ในอัตราส่วนเคมีทั่วไป 30%, ฟิสิกส์เบื้องต้น 25%, ชีวเคมี 25%, เคมีอินทรีย์ 15% และชีววิทยาเบื้องต้น 5%
    จำนวนทั้งหมด 59 ข้อ
    คะแนนเต็ม 132 คะแนน และ
    กำหนดเวลาการสอบที่ 95 นาที
  3. Psychological, Social, and Biological Foundations of Behavior (พื้นฐานทางจิตวิทยา สังคมวิทยา และชีววิทยาของพฤติกรรม) ในอัตราส่วนจิตวิทยาเบื้องต้น 65%, สังคมวิทยาเบื้องต้น 30% และชีววิทยาเบื้องต้น 5%
    จำนวนทั้งหมด 59 ข้อ
    คะแนนเต็ม 132 คะแนน และ
    กำหนดเวลาการสอบที่ 95 นาที
  4. Critical Analysis and Reasoning Skills (ทักษะการวิเคราะห์และการให้เหตุผล) ในอัตราส่วนการใช้เหตุผลนอกเหนือจากข้อความที่กำหนด 40% การใช้เหตุผลภายในข้อความที่กำหนด 30% และการทำความเข้าใจเบื้องต้น 30%
    จำนวนทั้งหมด 53 ข้อ
    คะแนนเต็ม 132 คะแนน และ
    กำหนดเวลาการสอบที่ 90 นาที

ข้อสอบความถนัดแพทย์ TBAT

Thai Biomedical Admissions Test หรือ TBAT คือ แบบทดสอบความถนัดทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการจัดสอบโดยศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Academic Testing Center) โดยได้พัฒนาขึ้นมาใช้แทนการสอบ BMAT เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติในคณะวิชาแพทยศาสตร์, ทันตแพทย์ศาสตร์, เภสัชศาสตร์, สัตวแพทย์ศาสตร์ และสหเวชศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวข้อสอบจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แบ่งออกเป็น 3 รายวิชา ได้แก่ ชีววิทยา, ฟิสิกส์ และเคมี มีจำนวนทั้งหมด 140 ข้อ คะแนนเต็มทั้งหมด 2,400 คะแนน ใช้ระยะเวลาการสอบ 3 ชั่วโมง

  1. Physics (ฟิสิกส์) สอบเกี่ยวกับหลักฟิสิกส์ จลศาสตร์ พลังงาน คลื่นเสียง ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จำนวนทั้งหมด 30 ข้อ ระยะเวลาการสอบ 60 นาที
  2. Chemistry (เคมี) สอบเกี่ยวกับกระบวนการทางเคมี การเกิดปฏิกริยาทางเคมี โครงสร้างอะตอม คุณสมบัติของธาตุและสารประกอบ พันธะเคมีและสูตรทางเคมี จำนวนทั้งหมด 55 ข้อ ระยะเวลาการสอบ 60 นาที
  3. Biology (ชีววิทยา) สอบเกี่ยวกับหลักการทางชีววิทยา ความแตกต่างทางชีวภาพ ระบบการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ระบบพันธุกรรม การวิวัฒนาการและการเติบโตของสิ่งมีชีวิต จำนวน 55 ข้อ ระยะเวลาการสอบ 60 นาที

ข้อสอบความถนัดแพทย์ BMAT

ในส่วนของข้อสอบ BMAT (BioMedical Admission Test) เป็นข้อสอบทดสอบความถนัดแพทย์รูปแบบเก่าของ Cambridge Assessment Admission Test ที่ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกว่าเป็นข้อสอบวัดความถนัดแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันได้ประกาศยกเลิกการจัดสอบ BMAT และยกเลิกการใช้คะแนนตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดยจัดสอบครั้งสุดท้ายในเดือนตุลาคมปี 2566 ที่ผ่านมา สำหรับตัวข้อสอบนั้นจะเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษในรูปแบบปรนัยและอัตนัย (ข้อเขียนและเลือกตอบ) ระยะเวลาการสอบ 2 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. Thinking Skill (การคิดวิเคราะห์) ข้อสอบวัดเชาวน์ปัญญาในการแก้ปัญหา ทักษะความเข้าใจบทความต่าง ๆ และทักษะการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง มีข้อสอบทั้งหมด 32 ข้อ เป็นข้อสอบแนว Problem Solving (การแก้ไขปัญหา) จำนวน 16 ข้อ และ Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์) จำนวน 16 ข้อ กำหนดระยะเวลาการสอบ 60 นาที
  2. Scientific Knowledge & Applications (ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้) ข้อสอบวัดความสามารถในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ได้เรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายไปประยุกต์ใช้ กำหนดระยะเวลาการสอบ 30 นาที โดยมีคำถามทั้งหมด 27 ข้อ
  3. Writing Task (ทักษะการเขียน) ข้อสอบวัดความสามารถในการเลือกพัฒนาและจัดการแนวคิด และสื่อสารผ่านการเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและกระชับได้ใจความ กำหนดระยะเวลาการสอบ 30 นาที โดยผู้สอบจะต้องเลือกทำ 1 ข้อ จากคำถามทั้งหมด 3 ข้อ

ข้อสอบความถนัดแพทย์แต่ละประเภท เหมาะกับใคร

ข้อสอบ MCAT เหมาะกับผู้ที่ต้องการเรียนต่อแพทย์ในอเมริกาและแคนาดา รวมไปถึงสอบเข้าคณะแพทย์ หลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย

ข้อสอบ UCAT เหมาะกับผู้ที่สนใจเรียนต่อสายแพทย์และทันตกรรมในหลักสูตรนานาชาติของประเทศไทย หรือมีความประสงค์จะเรียนต่อด้านนี้ในมหาวิทยาลัยภายในประเทศอังกฤษ, สหราชอาณาจักร, สิงคโปร, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ข้อสอบ TBAT เหมาะกับผู้ที่ต้องการสอบเข้าคณะแพทย์หลักสูตรนานาชาติที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยตรง เนื่องจากเป็นข้อสอบที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดสอบขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจสามารถนำเอาคะแนนสอบ TBAT ไปยื่นเข้าศึกษาต่อคณะแพทย์หลักสูตรนานาชาติที่สถาบันอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ด้วย (สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยตรง)

วิธีสมัครสอบความถนัดแพทย์

สำหรับใครที่กำลังวางแผนจะลงสอบวัดความถนัดแพทย์ จะต้องดำเนินการสมัครสอบด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ของทางศูนย์สอบนั้น ๆ โดยสามารถอ่านวิธีการสมัครสอบ MCAT, UCAT และ TBAT ด้านล่างนี้ได้เลย แต่ในส่วนของวิธีสมัครสอบ BMAT ขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้ เนื่องจากทางศูนย์สอบได้ประกาศยกเลิกการสอบอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย

วิธีสมัครสอบความถนัดแพทย์ MCAT

สมัครแอคเคาท์ภายในเว็บไซต์ จากนั้นกดที่ “Register for the MCAT Exam” เลือกวันเวลาที่ต้องการสอบ กรอกข้อมูลส่วนตัวแล้วเลือกสถานที่สอบที่สะดวกและดำเนินการชำระค่าสอบ โดยข้อสอบ MCAT จะมีการเปิดสอบในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงกันยายนของทุกปี (สามารถตรวจเช็กวัน-เวลาการสอบได้ ที่นี่) โดยหลังจากการสอบประมาณ 1 เดือนจะสามารถเข้าไปตรวจสอบคะแนนสอบด้วยตนเองภายใน เว็บไซต์

วิธีสมัครสอบความถนัดแพทย์ UCAT

สมัครแอคเคาท์ภายในเว็บไซต์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม จากนั้นจึงจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการสอบได้ในเดือนมิถุนายน (สามารถเลือกวัน-เวลาการสอบได้เองในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน) จากนั้นคะแนนสอบจะส่งไปทางมหาวิทยาลัยในเดือนพฤศจิกายนของปีที่สอบ ทั้งนี้ คะแนน UCAT จะสามารถใช้งานได้ปีต่อปีเท่านั้น (หากต้องการยื่นคะแนนสอบในปีการศึกษาถัดไปจะต้องลงทะเบียนสอบใหม่ทุกครั้ง)

วิธีสมัครสอบความถนัดแพทย์ TBAT

สมัครแอคเคาท์ภายในเว็บไซต์ จากนั้นเข้าสู่ระบบและเลือก “สอบ TBAT” ทำการสมัครสอบโดยเลือกศูนย์สอบ รอบการสอบ วันที่การสอบ แล้วชำระเงินให้เรียบร้อย โดยจะตรวจสอบสถานที่สอบในระบบสมัครสอบออนไลน์ล่วงหน้า 5 วัน ก่อนวันสอบ เมื่อดำเนินการสอบเสร็จเรียบร้อย ทางศูนย์สอบจะทำการประกาศผลคะแนนภายใน 14 วันนับจากวันสอบ โดยสามารถตรวจสอบผลคะแนนสอบของตนเองได้ภายในระบบสมัครสอบออนไลน์ (หากต้องการใบรายงานผลฉบับจริง สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สอบโดยตรง)

 

สรุปความแตกต่างของข้อสอบความถนัดแพทย์

ข้อสอบความถนัดแพทย์
รายวิชาการสอบ
ระยะเวลาการสอบ
อายุผลคะแนน
อัตราค่าสมัครสอบ
UCAT
  1. Verbal Reasoning
  2. Decision Making
  3. Quantitative Reasoning
  4. Abstract Reasoning
  5. Situational Judgment
2 ชั่วโมง
1 ปี
5,000 บาท
MCAT
  1. Biological and Biochemical Foundations of Living Systems
  2. Chemical and Physical Foundations of Biological Systems
  3. Psychological, Social, and Biological Foundations of Behavior
  4. Critical Analysis and Reasoning Skills
6 ชั่วโมง 15 นาที
3 ปี
12,000 บาท
TBAT
  1. Physics
  2. Chemistry
  3. Biology
3 ชั่วโมง
2 ปี
1,600 บาท
BMAT
(ยกเลิก)
  1. Thinking Skill
  2. Scientific Knowledge & Applications
  3. Writing Task
2 ชั่วโมง
1 – 2 ปี
9,500 บาท

เตรียมพร้อมพิชิตข้อสอบความถนัดแพทย์ไปกับ House of Griffin

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่วางแผนจะไปสอบความถนัดแพทย์ไม่ว่าจะเป็น UCAT, MCAT หรือ TBAT สามารถมาลงติวเพิ่มเติมเตรียมตัวก่อนใครได้ที่ House of Griffin เราพร้อมติวให้แบบเน้น ๆ เจาะลึกทุกเนื้อหา ครบทุกวิชาที่สอบ การันตีคุณภาพด้วยคุณครูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา ประสบการณ์การสอนกว่า 14 ปี โดยมีคอร์สให้เลือกเรียนทั้งแบบเดี่ยวเลือกวัน-เวลา เรียนได้ เจาะลึกรายบุคคล หรือคอร์สแบบกลุ่มเล็ก เน้นคุณภาพ ดูแลใกล้ชิด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยค่ะ
Share this article